คอลัมน์ มุมพระเก่า

อภิญญา

อดีตพระเกจิอาจารย์ประเภท “คมในฝัก” หรือ “ช้างเผือกในป่า” นั้นมีอยู่มากมายหลายองค์ บางองค์เก่งกล้าอาคมยิ่งยวด แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกประวัติไว้ แม้กระทั่งรูปถ่ายสักใบก็ไม่มี อันอาจสืบเนื่องจากวิทยาการที่ยังไม่ทันสมัย หรือขาดผู้สนใจที่จะจดบันทึกไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้

บางองค์ก็ไม่อยากดัง ไม่ยอมให้สัมภาษณ์หรือนำประวัติไปลงตีพิมพ์ เพราะกลัวจะเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ความสามารถของสานุศิษย์ที่ต้องการเผยแพร่เกียรติคุณของท่านให้คนทั่วไปได้รู้จัก โดยมิได้มุ่งหวังใช้ท่านเป็นสะพานนำพาประโยชน์สู่ตน

นั่นคือแนวคิดของลูกศิษย์ในสมัยก่อน แต่สมัยนี้แนวคิดอาจจะเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมที่เปลี่ยนแปลง จนพระเกจิอาจารย์บางท่านกลายเป็น “พรีเซ็นเตอร์” พระเครื่องจนนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของสาธุชน

แต่พระเกจิอาจารย์ที่จะกล่าวถึงนี้ ท่านเป็นพระ “ดี” และมี “ดี” สมชื่อ แถมยังมี “ของดี” ที่ใครครอบครองไว้จะได้พบแต่สิ่งดีๆ เช่นกัน

จังหวัดนครปฐม ดินแดนแห่งส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย และพระสงฆ์โด่งดังมากมาย ในอดีตเมื่อราว 30 กว่าปีก่อนมีพระเกจิอาจารย์ดังองค์หนึ่งที่น่าสนใจคือ “หลวงพ่อดี สุวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ชื่อเสียงของท่านอาจไม่แพร่หลายนัก เพราะท่านเป็นพระที่เก็บตัว แต่ชาวบ้านแถบพุทธมณฑล ศาลายา ต่างนับถือในตัวท่านเป็นอย่างมาก

ในด้านพระเครื่องของท่านมีประสบการณ์มากมายทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นแรก…จนรุ่นสุดท้าย ศิษย์บางคนโดนมาหนักๆ แต่ก็รอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ รถกระบะโดนรถไฟชน มีคนรอดตายได้แบบไม่น่าเชื่อ

พื้นเพท่านเป็นชาวต.มหาสวัสดิ์ อ.นครชัย ศรี จ.นครปฐม เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ตรงกับพ.ศ.2446 ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

เมื่อเยาว์วัยได้ช่วยบิดา-มารดาทำมาหาเลี้ยงชีพ กระทั่งอายุ 18 ปี จึงสนใจที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน แต่สมัยนั้นโรงเรียนหายากจึงเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ในสำนักวัดกลางบางแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่มีการศึกษาเจริญรุ่งเรือง โดยเหตุที่พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) ท่านส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษา

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว จึงอยู่ศึกษาที่วัดกลางบางแก้ว โดยเรียนสนธิมูลกัจจายน์กับพระอาจารย์เนียม ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ในวัดกลางบางแก้ว ภายใต้การควบคุมดูแลจากหลวงปู่บุญอย่างใกล้ชิด และศึกษาอักขระขอมกับ พระอาจารย์แสง อาจารย์ในสำนักวัดกลางบางแก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางอักขระวิธีจนมีความรู้เป็นอย่างดี

ถึงปีพ.ศ.2466 มีอายุล่วงเข้า 20 ปี จึงเข้าอุปสมบทที่วัดงิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (เกิด) วัดงิ้วราย (อาจารย์วิปัสสนาชื่อดัง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ วัดกกตาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดบุญ วัดแค เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุวัณโณ” หลังอุปสมบทแล้ว ได้อยู่เฝ้าปรนนิบัติอุปัชฌาย์ตามประเพณี ก่อนย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสุวรรณ ซึ่งในขณะนั้นมี “หลวงพ่อเนียม” เป็นเจ้าอาวาส

เหตุที่ท่านมาจำพรรษาที่วัดสุวรรณก็เพราะว่า หลวงพ่อเนียม เจ้าอาวาสเป็นอาจารย์ของท่านเมื่อครั้งเป็นสามเณรนั่นเอง ภายหลังหลวงปู่บุญได้ส่งมาปกครองวัดสุวรรณ ระหว่างนั้นท่านได้ออกธุดงค์ ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวก เจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ บางปีท่านก็จะไปจำพรรษาอยู่ที่อื่นๆ เช่น ที่วัดขนอนคด ราชบุรี วัดกกตาล และที่สระบุรีบ้าง ต่อมาเมื่อหลวงพ่อเนียมมรณภาพ ชาวบ้านซึ่งได้เห็นท่านมีจริยวัตรอันน่าเลื่อมใส

จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน