เมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งเก่าและใหม่จำนวนมาก สืบสานพุทธาคมจากรุ่นสู่รุ่น

“หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล” เจ้าอาวาสวัดบ้านแจ้ง อ.บางปะหัน จ.พระนคร ศรีอยุธยา เป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถือ มีชื่อเสียงในด้านการสักยันต์

กล่าวกันว่าชาวเมืองอยุธยาที่มีการ สักยันต์ในยุคนั้น จะต้องมีรอยสักของท่านเกือบทุกคน โดยเฉพาะยันต์จิ้งจก ที่มีความโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม

มีนามเดิม หน่าย มีความดี วัน-เดือนที่เกิดไม่ระบุชัด ปีพ.ศ.2446 ที่ ต.หันสังข์ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัด ในสมัยนั้นการศึกษายังไม่ค่อยเจริญ พออ่านออกเขียนได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วได้ช่วยพ่อแม่ทำงานอยู่กับบ้าน

อายุ 12 ปี บรรพชาที่วัดบ้านแจ้ง โดยมีพระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 22 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านแจ้ง โดยมี พระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า อินทสีโล

พรรษาแรก เริ่มออกเดินธุดงค์ไปในป่าเขาตามภาคต่างๆ ซึ่งมีสัตว์ดุร้ายที่ชุกชุม แต่ไม่มีความเกรงกลัวกับสัตว์ร้ายเหล่านั้น

เมื่อเดินธุดงค์อยู่ในป่าจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้กลับมายังวัดแจ้ง เพื่อเยี่ยมญาติโยม อยู่วัดบ้านแจ้งได้ 3 เดือน จึงเดินทางไปศึกษาวิทยาคมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ขณะที่เรียนอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้พบกับท่านกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และศึกษาวิชากับท่านบ้าง แต่ส่วนมากจะได้วิชาจากหลวงปู่ศุข แต่ยังไม่ทันที่จะได้วิชาแขนงสุดท้าย หลวงปู่ศุขก็มรณภาพไปเสียก่อน

แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี แต่หลวงพ่อหน่ายได้ฝึกฝนทบทวนสรรพวิชาต่างๆ อย่างเข้มข้น จนถือว่าเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ศุขอย่างแท้จริง

หลังจากนั้นท่านได้ไปศึกษาวิชาเครื่องรางของขลังและวิทยาคมกับอาจารย์ย่ามแดง ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข หลังจากเรียนวิชาจากอาจารย์ย่ามแดง จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านแจ้ง ซึ่งในขณะนั้นมี พระครูอนุวัติสังฆกิจ (เคลือบ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ในป่าช้านานถึง 20 ปี โดยบอกว่าในป่าช้าเงียบและสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ช่วยพระครูสังฆกิจ (เคลือบ) พัฒนาวัดบ้านแจ้ง ด้วยการสร้างอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมื่อพระครูสังฆกิจมรณภาพ ญาติโยมจึงนิมนต์หลวงพ่อหน่ายขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ขณะที่มีอายุได้ 71 ปี โดยที่ท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร รวมทั้งเกื้อกูลต่ออุบาสก-อุบาสิกา มายาวนาน เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กุลบุตรทั้งหลายได้บรรพชาอุปสมบท เป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

จากวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรมที่หลวงพ่อหน่ายได้ให้แก่ลูกศิษย์และญาติโยมทั้งหลายมายาวนาน ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือ ประกอบกับเมื่อท่านได้สร้างวัตถุมงคลและมีผู้นำไปบูชาแล้วเกิดผลเป็นสุข ความเจริญ หรือแคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่างๆ จึงทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อหน่ายอยู่ในทำเนียบของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของเมืองไทย

ทั้งนี้ หลวงพ่อหน่ายได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้หลายอย่าง อาทิ ตะกรุดโทน, ตะกรุดมหาอุด, พระโมคคัลลาน์พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก, พระพุทธโคดมพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก รวมถึงเหรียญรุ่นต่างๆ อีกหลายรุ่น

เมื่อครั้งยังดำรงขันธ์อยู่ แม้ชราภาพมากแล้ว แต่ท่านยังแข็งแรงดี โดยสามารถนั่งพูดคุยกับโยมที่ไปเยี่ยมได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกเหนื่อย รวมทั้งมีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตาแก่คนและสัตว์ต่างๆ

ตลอดชีวิตของหลวงพ่อหน่าย ท่านได้นำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือชาวบ้านและลูกศิษย์อย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นสงฆ์ที่รักสันโดษ ครองบรรพชิตอย่างเรียบง่าย และไม่เคยโอ้อวดตนเอง

ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันอังคารที่ 10 พ.ค.2531 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 74

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน