“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน จังหวัดนครปฐม มีการขุดพบพระเครื่องเก่าแก่ประเภทเนื้อชิน ที่เรียกกันว่า พระร่วง มีทั้งแบบประทับยืน และแบบประทับนั่ง แต่จำนวนพระที่พบนั้นมีจำนวนน้อย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเป็นพระที่มีอายุการสร้างเก่าแก่มากและเกิดการชำรุดผุพังไปเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้พบพระได้จำนวนไม่มากนัก และหายากมากในปัจจุบัน

การพบพระร่วงนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ปีพ.ศ.2495 ที่บริเวณวัดกลางนครปฐม พระที่พบมีอยู่หลายแบบ เช่น พระแผงต่างๆ เนื้อดินเผา ซึ่งเป็นพระขนาดใหญ่ มีทั้งที่เป็นศิลปะแบบทวารวดีและศรีวิชัย ที่เป็นพระเครื่องเนื้อชินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือพระร่วงยืน และพระร่วงนั่งข้างรัศมี ที่มีขนาดค่อนข้างย่อมกว่าพระแบบอื่นๆ ในกรุที่พบ พระร่วงทั้ง 2 พิมพ์เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง พระส่วนใหญ่ที่พบนั้นจะชำรุดเสียมาก พระที่สมบูรณ์มีน้อย โดยเฉพาะพระร่วงยืนหาสมบูรณ์ยากมากครับ

พระร่วงยืนของกรุวัดกลาง มีรูปแบบศิลปะแบบทวารวดียุคปลาย หรือได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบทวารวดี ลักษณะของพระร่วงยืนเป็นพระแบบตัดชิดองค์พระ ไม่สวมเครื่องทรง ส่วนพระร่วงนั่ง ประทับนั่งอยู่บนฐานบัว 2 ชั้น มีปีกรอบองค์พระและมีเส้นรัศมีเป็นขีดๆ โดยรอบ

พระร่วงยืนของกรุนี้พบพระที่มีสภาพสมบูรณ์น้อยมาก ส่วนพระร่วงนั่งที่พบส่วนมากก็ชำรุดเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีจำนวนมากกว่าพระร่วงยืน ทั้งนี้ทั้งนั้นจำนวนพระของทั้ง 2 พิมพ์รวมกันก็ยังพบที่มีสภาพสมบูรณ์น้อยมาก

พระร่วงนั่งข้างรัศมียังมีการพบอีกครั้งที่กรุวัดพระประโทนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็พบจำนวนน้อยมากและพบที่เป็นเนื้อชินเงินด้วยที่กรุวัดพระประโทน

พระร่วงของนครปฐมพุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี ซึ่งเป็นพระที่นิยมเสาะหากันมากของผู้นิยมพระเครื่องเนื้อชิน แต่ก็หาแท้ๆ ยากมาก สนน ราคาก็ค่อนข้างสูงทีเดียวครับ

วันนี้ผมก็ได้นำรูปพระร่วงของกรุวัดกลางนครปฐม ทั้งพระร่วงยืนและพระร่วงนั่งข้างรัศมี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง จากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน