“เชิด ขันตี ณ พล”

“หลวงปู่ทูล หัฏฐสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านดอนหลี่ ต.หนอง บัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมของภาคอีสาน มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ร่วมสมัยกับพระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว

อัตโนประวัติ มีการบันทึกไว้น้อยมาก จากการสืบค้นข้อมูลจากวัด ทราบเพียงว่าเกิดที่บ้านทับค่าย จ.สุรินทร์ ชื่อเดิม ทูล บุญสะอาด เกิดปีพ.ศ.2404 ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ชีวิตช่วงวัยเยาว์ พออายุได้ 12 ปี บิดา-มารดา ได้นำท่านไปบรรพชาที่วัดในหมู่ บ้าน ครั้นอายุครบ 20 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท แต่ไม่ทราบชื่อพระอุปัชฌาย์

หลังอุปสมบท ได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความมุ่งมั่น ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัยที่ลึกซึ้ง โดยเดินทางไปศึกษาต่อที่สำนักวัดพระโต จ.ศรีสะเกษ

ยุคนั้นเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเขตอีสานตอนใต้ ท่านต้องศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ไทยน้อย อักษรลาว หลังมุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปี มีความรู้แตกฉานสามารถอ่านเขียนได้อย่างชำนาญ

ประมาณปี พ.ศ.2427 บ้านทับค่าย เกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี บิดา-มารดา ตัดสินใจอพยพครอบครัวมาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่บ้านดอนหลี่ ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม

ด้วยความเป็นห่วงบิดา-มารดา ที่ชรามากแล้วรวมทั้งน้องๆ หลวงปู่จึงติดตามครอบครัวมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนหลี่ และจำพรรษาอยู่ที่นี่มาโดยตลอด หลวงปู่ทูล เป็นผู้มีอุปนิสัยชมชอบความสงบวิเวก ท่านมักออกเดินธุดงควัตรไปแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสานตามรอยพระตถาคต โดยเฉพาะผืนป่าในประเทศกัมพูชา รวมทั้งได้ศึกษาไสยเวทจากพระเกจิเขมรหลายรูป เก่งทางด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี ล่องหนหายตัว กันบ้านกันเมือง

จากการที่หลวงปู่ทูล เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย มีพุทธาคมแก่กล้า ทำให้หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็วในเขตภาคอีสาน ในแต่ละวันจึงมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดโทนที่เข้มขลังจากหลวงปู่อย่างล้นหลาม

ถึงแม้วัตถุมงคลของท่านจะเข้มขลังเพียงใดก็ตาม แต่ท่านไม่เคยโอ้อวด กลับพร่ำสอนให้ญาติโยมดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ขอให้ญาติโยมประกอบแก่กรรมดี

ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค หาได้เก็บงำไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวไม่ ท่านได้นำมาพัฒนาสร้างความเจริญให้กับวัดไม่ว่าจะเป็นกุฏิ กำแพงแก้ว ประตู โดยเฉพาะอุโบสถ ท่านได้ขอแรงญาติโยมร่วมกันสร้าง สมัยก่อนนั้นปูน ซีเมนต์ยังไม่มีขาย เป็นสินค้าที่หายาก ต้องใช้เกวียนเทียมควายหลายสิบเล่มไปขนหอยกาบจากลำน้ำมูน จากนั้นนำมาเผาผสมกับยางไม้ทำเป็นปูนใช้ก่อสร้างอุโบสถจนแล้วเสร็จ

ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้ทางกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร โดยท่านได้ตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น นอกจากท่านจะรับหน้าที่เป็นครูสอนแล้ว ยังจัดหาพระสงฆ์และฆราวาสที่มีความรู้มาเป็นครูสอนประจำ ทำให้สำนักเรียนวัดบ้านดอนหลี่ ยุคนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังดังขจรไกล แต่ละปีมีพระภิกษุ สามเณรมาศึกษาเล่าเรียนนับร้อยรูป

นอกจากนี้ หลวงปู่ยังชมชอบการทำเกษตร หากว่างจากวัตรปฏิบัติ จะพาภิกษุสามเณรปลูกพืชผักผลไม้ อาทิ แตงกวา สับปะรด เผือก มัน ไว้สำหรับฉันเพื่อผ่อนเบาภาระญาติโยม

สำหรับตำแหน่งทางปกครองหลวงปู่ทูล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนหลี่ เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นเจ้าคณะตำบลภารแอ่น

ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร หลวงปู่ทูลปวารณาตนสืบทอดพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน

ช่วงปัจฉิมวัยท่านอาพาธบ่อยครั้ง พ.ศ.2484 หลวงปู่ทูลมรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคชรา สิริอายุ 80 พรรษา 60

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน