“พระครูธำรงโพธิเขต” หรือ “หลวงปู่โสฬส ยโสธโร” พระเกจิชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดโคกอู่ทอง ต.โพธิ์ทอง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เป็นศิษย์ธรรมทายาท หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม, หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองปราจีนฯ

มีนามเดิมว่า โสฬส ไชยยันต์ เกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2457 ที่ ต.หนองแก้ว อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2477 มีพระอธิการตาล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการวุ้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการศรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังครองเพศบรรพชิต ตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัย อยู่จำพรรษา ณ วัดโคกอู่ทอง มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2479 สอบได้นักธรรมชั้นตรี ณ สำนักเรียนวัดบ้านโง้ง จ.ปราจีนบุรี

มีความสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนามาแต่เยาว์วัย ทำให้ท่านได้มีบทบาทในการสร้างความเจริญมาสู่วัดโคกอู่ทอง ทั้งในด้านถาวรวัตถุและในด้านจิตใจ พุทธศาสนิกชนชาวเมืองปราจีนบุรี

ในด้านถาวรวัตถุนั้น รวบรวมศรัทธาจากชาวบ้านทั้งในทางใกล้และทางไกล เพื่อสมทบทุนสร้างวัดโคกอู่ทองให้เจริญรุ่งเรือง มิแตกต่างจากวัดในเมืองที่เจริญแล้วแต่อย่างใด

ในส่วนของความเจริญทางด้านจิตใจ หลวงปู่โสฬส เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธบริษัทอย่างเหนียวแน่นทั้งใกล้และไกล ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ให้ความช่วยเหลือจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับพระเถราจารย์ในยุคเดียวกันต่างยอมรับนับถือกันว่าหลวงปู่เป็นผู้คงแก่เรียน แตกฉานในคัมภีรศาสตร์พระพุทธศาสนา ตลอดจนศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น พฤกษศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของสมุนไพรบำบัด โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาคม ฯลฯ

เนื่องจากเป็นศิษย์ผู้สืบทอดวิทยาคมจากพระอภิญญาจารย์ในอดีตหลายรูป เช่น หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงปู่อวน วัดหนองพลับ. พระอาจารย์วัน วัดเขาวงศ์ถ้ำพระนารายณ์ และคณาจารย์สายฆราวาสจอมขมังเวท

ด้านพุทธาคม ท่านเป็นศิษย์ผู้สืบทอดวิทยาคมจากพระเกจิดังผู้เรืองนามในอดีต ได้เคยไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อจาดแห่งวัดบางกระเบา พระเถราจารย์ขมังเวทผู้เรืองนามในยุคสงครามอินโดจีน แต่เป็นช่วงบั้นปลายอายุขัยหลวงพ่อจาดแล้ว ได้รับการแนะนำให้ไปศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิผู้เรืองนามในท้องถิ่นย่านนั้นอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อเส็ง วัดประจันตคาม

ก่อนได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากหลวงพ่อเส็ง โดยเฉพาะวิชามหายันต์เกราะเพชรที่โด่งดัง เนื่องจากมีใจรักและฝักใฝ่ศึกษาสรรพวิชา นอกเหนือไปจากการพัฒนาด้านการศึกษาและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ท่านยังหาโอกาสไปศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านกฤติยาคมในยุคนั้นอีกหลายรูป คือ หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน ศึกษาวิชาปรอทจาก หลวงปู่อวน วัดหนองพลับ จ.สระบุรี เป็นต้น

วัตถุมงคลที่หลวงปู่โสฬส จัดสร้างขึ้นล้วนแต่ได้รับความนิยมจากเซียนพระและนักสะสมนิยมพระเครื่อง วัตถุมงคล โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรกที่ท่านสร้างแจกทหารหาญผู้อาสาสมัครไปปฏิบัติราชการ ณ สงครามเกาหลี ในปีพุทธศักราช 2495

ด้ายอายุกาลพรรษาที่มากเกือบร้อยปี ด้วยคุณวุฒิที่เป็นนักการศึกษาพัฒนาส่งเสริมให้ความรู้แก่กุลบุตร หลวงปู่โสฬสเป็นนักปกครอง กล่าวคือได้ดำรงตำแหน่งทางด้านการปกครองสงฆ์ดำรงตำแหน่งพระอุปัชฌาจารย์และเจ้าคณะตำบลมายาวนาน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2490

นอกจากจะเป็นที่พึ่งของบรรดาคณะศิษย์ในยามยาก หลวงปู่โสฬสยังเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมศรัทธาปสาทะ ในการนำความเจริญมาสู่พระพุทธศาสนา ตลอดจนเป็นพระเถราจารย์ที่พระสมณะรุ่นหลังนำมาเป็นแบบอย่าง

ช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่โสฬส มีอาการอาพาธบ่อยครั้ง ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ

กระทั่งเวลา 23.23 น. วันที่ 5 พ.ย.2555 หลวงปู่โสฬส ละสังขารอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ด้วยโรคปอดติดเชื้อ (หน้า 23)

สิริอายุ 98 ปี พรรษา 77

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน