เมื่อวันที่ 29 ต.ค. เป็นวันสุดท้ายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ อัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไปประดิษฐานที่ที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ในพระถ้ำศิลาหินอ่อนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

จากนั้นทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารอีกส่วนหนึ่งไปยังพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร บรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ตลอดเส้นทางไปวัดราชบพิธฯ ทั้งถนนราชดำเนิน ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ฯลฯ มีประชาชนเข้ามารอรับเสด็จและร่วมชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ขบวนที่ 6 เป็นขบวนสุดท้ายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับที่วัดบวรนิเวศฯ ตั้งแต่ช่วงเช้า ประชาชนมาจับจองที่นั่งบริเวณริมถนนหน้าวัดบวรนิเวศฯ หรือถนนพระสุเมรุ เต็มยาวตลอดทางของถนนทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งด้านหน้าวัดหรือฝั่งตรงข้ามกับวัดเพื่อร่วมชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

สำหรับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) และ วัดประจำรัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต เป็นพระประธานองค์ใหญ่ คนทั่วไปเรียก “พระโต” หรือ “หลวงพ่อเพชร ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จ.เพชรบุรี เป็นพระหล่อ หน้าพระเพลา (ตัก) 9ศอก 21 นิ้ว มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง

และด้านหน้าของพระพุทธสุวรรณเขต เป็นพระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดาและพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช 2372

นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี่

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงประทับจำพรรษาเป็นเวลา 15วัน ที่พระตำหนักปั้นหยา ครั้งที่ทรงผนวช ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดา ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ

ในระหว่างที่ทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดเกล้าฯ สร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนาราวันตบพิตร” ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณด้านขาวมือขององค์พระประธาน และพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นพระพุทธรูปปางรำพึง ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายมือ

นอกจากนั้น ยังประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสังฆราช พระรูปหล่อ 3 พระองค์ ซึ่งเรียงกันบนฐานชุกชี ประกอบไปด้วย พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และ พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และที่บริเวณพระแท่นด้านหน้าพระอุโบสถ ทางวัดบวรได้นำพระรูปหล่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครึ่งพระองค์ มาให้ประดิษฐานให้ประชาชนได้สลักการะ

สำหรับประชาชน ที่เข้ากราบพระบรมราชสรีรางคาร ที่วัดราชบพิธฯ เปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะ (เปิดพิเศษ) ได้ทุกวัน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ รอบแรก เวลา 08.00 น. – 10.00 น. รอบสอง เวลา 16.00 น. – 18.30 น. ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.

ส่วนวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เปิดให้พสกนิกรได้เข้ากราบพระบรมราชสรีรางคารและพระพุทธชินสีห์ ภายในพระอุโบสถ ตั้งแต่เวลา8.30-21.00 น. ทุกวัน พร้อมกันนี้วัดบวรนิเวศ ได้พิมพ์ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในขณะที่ทรงสนทนาธรรมกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สองธรรมราชาพร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ได้จัดภาพภ่ายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร แจกให้กับประชาชนที่เข้ามากราบพระพุทธชินสีห์ พระบรมราชสรีรางคาร บริเวณทีศาลาแดงบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน