สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

พระองค์เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จออกผนวชในปี พ.ศ.2499

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระนามเดิมว่า ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ ทรงเป็นโอรสของ หม่อมเจ้าถนอมกับหม่อมเอม นพวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2415 ตรงกับวันศุกร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก จุลศักราช 1234

ทรงเป็นพระนัดดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 4) กรมหมื่นมเหศวรศิวลาส (พระองค์เจ้านพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส, และทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว

เมื่อครั้งเยาว์วัยทรงศึกษากับครูชมที่วังของพระชนก มีพระนิสัยโน้มเอียงในทางพระศาสนา กล่าวคือ ได้ตามเสด็จกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ไปวัดอยู่เสมอ จึงทำให้ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตโต) วัดบรมนิวาส เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2435 สามเณร ม.ร.ว.ชื่น ทรงผนวช ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม โดยพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระนามฉายาว่า สุจิตฺโต

ทรงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ และสถาปนาสมณศักดิ์เป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระสุคุณคณาภรณ์

พ.ศ.2446 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระญาณวราภรณ์ ได้รับพระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักทองเป็นพระเกียรติยศ

พ.ศ.2451 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระญาณวราภรณ์ ได้ถวายพระพรลาออกจากสมณศักดิ์ด้วยมีประสงค์จะลาสิกขา แต่ด้วยความอาลัยในสมณเพศ จึงได้ยับยั้งตั้งพระทัยบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระญาณวราภรณ์ดังเดิม

พ.ศ.2455 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2464 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ

พ.ศ.2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีพระราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

พ.ศ.2488 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประกาศสถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2493

พ.ศ.2499 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ และฐานันดรศักดิ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงปกครองวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดและมีการก่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นหลายครั้งและหลายสิ่ง เช่น สร้างหอสมุดของวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2497 สร้างตึกสถานศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2498 สร้างตึกอุทิศนภวงศ์ด้วยทุนไวยาวัจกรส่วนพระองค์ สร้างตึกสามัคคีธรรมทาน ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัดด้วยทุนที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุ 60 ปี

พระองค์ได้ทรงประพันธ์หนังสือไว้หลายเรื่อง เช่น ศาสนาโดยประสงค์ พระโอวาทธรรมบรรยาย ตายเกิดตายสูญ ทศพิธราชธรรม พุทธศาสนคติ ทรงชำระพระไตรปิฎกสยามรัฐ ฉบับพิมพ์ 2470 เล่ม 25-26 ทรงชำระอรรถกถาชาดกที่สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้ชำระ พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2467

สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2501 พระชนมายุ 86 พรรษา ทรงผนวช 66 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุสำหรับถวายพระเพลิง ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส และต่อมาได้มีพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2503

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน