“หลวงพ่อเฮง” วัดเขาดิน จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเครื่องรางงาแกะอันโด่งดัง ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ อีกด้วย

เกิดเมื่อปี 2402 ที่บ้านมหาโพธิ์ ต.มหาโพธิ์ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

ท่านเกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ บิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า เฮง

มีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดโยมบิดาให้ไปเฝ้านา ท่านเห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอมไล่ เพราะท่านถือว่าเป็นการให้ทานแก่นก

ในเยาว์วัย เป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือ วิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ พออายุได้ 12 ปี บรรพชาที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ 4 ปี ก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

ครั้นอายุครบบวช เมื่อปี 2423 จึงเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมี พระครูกิ่ม เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาโหราศาสตร์ และวิทยาคมต่างๆ อีกมากมายจากพระ อาจารย์กิ่ม ขณะเดียวกัน วัดมหาโพธิ์ใต้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำราต่างๆ ไว้มากมาย อีกทั้งอุโบสถของวัดก็เป็นแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี

วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะพักอยู่เสมอๆ หลวงพ่อเฮงจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย ต่อมาท่านได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบต่างๆ ถึงพม่า เขมร และลาวหลายครั้ง และท่านก็เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่าได้ดี

หลวงพ่อเฮงกลับมาจากธุดงค์พอดีกับทางวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าอาวาสปกครองวัดมหาโพธิ์ใต้

พ.ศ.2449 เป็นเจ้าอาวาสปกครองถึง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้ และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาดิน เนื่องจากกำลังก่อสร้างศาลาการเปรียญอยู่

มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสมาก คือ ท่านได้บอกกับชาวบ้านว่า ให้จัดทำปะรำพิธีต้อนรับที่วัดเขาดิน ชาวบ้านต่างไม่เข้าใจว่าให้สร้างทำไม?

กระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสต้นไปกำแพงเพชร ทางชลมารคได้จอดเรือพระที่นั่งแวะที่วัดเขาดิน โดยไม่มีหมายกำหนดการ และชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครรู้

จดหมายเหตุของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ว่า “เมื่อมาถึงวัดเขาดินได้ยินเสียงมโหรีและพระสวด เห็นเวลายังวันอยู่จึงได้คิดแวะถ่ายรูป แต่ชายหาดน้ำตื้นเรือใหญ่เข้าไปไม่ถึง ต้องลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปอีก เดินหาดร้อนเหลือกำลังทั้งเวลาก็บ่ายสี่โมงแล้ว ไม่ตั้งใจจะขึ้นเขา แต่ครั้นเข้าถ่ายรูปที่เขาแล้วเห็นวัด วัดตระเตรียมแน่นหนามาก จึงเลยไปถ่ายรูป

ครั้นเข้าไปใกล้ดูคนตะเกียกตะกายกันหนักขึ้น จะต้องยอมขึ้นวัดวัดนี้มีเจ้าอธิการชื่อเฮง รูปพรรณสัณฐานดีกลางคนไม่หนุ่มไม่แก่ เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่คนจะนับถือมาก เพิ่งมาจากวัดมหาโพธิ์ใต้ที่ฝั่งตรงกันข้ามได้ 2 ปี แต่มีคนแก่สัปปุรุษและชาวบ้านหลายคนมาคอยอธิบายชี้แจงโน้นนี่ เจ้าอธิการว่าได้สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งขัดเครื่องมุง จึงให้เงิน 100 บาท ช่วยศาลานั้น แล้วสัปปุรุษทายกชักชวนให้เข้าไปดูในวัด”

พัฒนาวัดเขาดิน จนมีความเจริญรุ่งเรือง เมื่อท่านได้พัฒนาวัดเขาดินแล้ว ท่านยังไปพัฒนาวัดมหาโพธิ์ใต้อีก ในที่สุดชาวบ้านจึงให้ท่านปกครองทั้ง 2 วัด คือ วัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามฝั่งแม่น้ำถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้อง

หลวงพ่อเฮง เป็นพระสมถะฉันง่ายอยู่ง่าย พบง่าย ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก

มรณภาพในเดือน 12 ปี 2485 สิริอายุ 83 พรรษา 63

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน