คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

รายละเอียดจากหนังสือ “บูรพาจารย์” อันจัดทำโดย มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2544

บอกให้รู้เส้นทาง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต โดยย่นย่อ

พ.ศ.2459 ได้ไปจำพรรษากันด้วย พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ ถ้ำภูผากูด อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันคือจังหวัดมุกดาหาร) ท่านอาจารย์ที่ท่านเคารพยิ่ง

ท่านได้ปฏิบัติ “อาจาริยวัตร” ตั้งแต่ ล้างบาตร ซักจีวร ตักน้ำ ฯลฯ ถวายท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ทุกอย่างเหมือนพระบวชใหม่ แม้ท่านจะมีอายุพรรษา 20 กว่าแล้ว และ ณ ที่นี้ ท่านได้ถวายความรู้แด่ท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เรื่องที่ท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ปรารถนาความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วย

พ.ศ.2460 ได้มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านดอนปอ (ดงปอ) ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ญ

จ.อุดรธานี

ท่านเริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยว จริงจัง และมีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณร ผู้เคยได้รับรสธรรมะจากท่านและผู้ที่ได้เคยสดับกิตติศัพท์ ก็ได้ติดตามปฏิบัติกับท่าน ณ ที่นี้

อย่างไรหรือที่เรียกว่า “เริ่มอบรมพระภิกษุ สามเณร อย่างเด็ดเดี่ยว จริงจัง”

คำตอบสัมผัสได้จากหนังสือ ชีวประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูรทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์

ดังนี้

การจำพรรษาของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายองค์เพราะจะทำให้ไม่วิเวก ดังนั้น ท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังจะได้รับผลแน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน

เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์

ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาธิท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์ 2 องค์ จะได้อบรมตนให้ยิ่ง ไม่ต้องกังวลกับใคร แต่พอเมื่อสงสัยในการปฏิบัติเกิดขึ้นท่านเหล่านั้นก็จะมาหาให้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ช่วยแก้ความสงสัยเป็นรายๆ ไป

การที่บรรดาศิษย์ได้ไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มิใช่ว่าท่านจะทอดธุระเสียแต่อย่างใด ท่านต้องใช้ญาณภายในตรวจตรา พร้อมทั้งคอยสดับตรับฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา

ท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของศิษย์แล้วถ้าเป็นเหตุสำคัญท่านจะใช้ให้พระหรือโยมไปตามพระรูปนั้นมาหาท่านทันทีเพื่อจะได้แก้ไขเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเพื่อความถูกต้องและได้ผลเป็นประมาณ

การควบคุมการปฏิบัติของศิษย์นั้นท่านพิถีพิถันมาก พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านได้พิจารณาเห็นว่าศิษย์รูปนั้นจะเป็นผู้มีนิสัยวาสนาเป็นผู้ปฏิบัติเข้มแข็งและจะพึงเห็นอรรคเห็นธรรมในเบื้องหน้าแล้ว

ท่านยิ่งจะติดตามคอยแนะนำการปฏิบัติให้ทุกระยะ

ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่าน อาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน

หลังจากนั้นท่านก็ได้พิจารณาเห็นว่า มหาปิ่นนี้มีบุญวาสนา ได้บำเพ็ญมาพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ท่านจึงพยายามแนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่นนั่งพักอยู่ในกุฏิหลังเล็กมุงหลังคาในเสนาสนะป่า ท่านได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว 2 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 23.00 น.เศษ พลางท่านก็ได้นึกไปถึงอาจารย์มั่นว่า

“ท่านอาจารย์มั่นมิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร เราได้ร่ำเรียนมาถึง 5 ประโยคจะต้องมีความรู้กว้างขวางมากกว่าท่าน และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือมิถูกประการไรหนอ”

ขณะนั้นเองท่านอาจารย์มั่นนั่งอยู่กุฏิห่างกันคนละมุมวัดก็ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นทันทีว่ากำลังคิดดูถูกท่านอยู่ และการคิดเช่นนี้ย่อมเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่งจึงลุกขึ้นถือไม้เท้าเดินไปที่กุฏิมหาปิ่น เอาไม้เท้าเคาะข้างฝาที่ทำด้วยใบไม้ดังปั๊บๆ แล้วก็ส่งเสียงขึ้นว่า

“ท่านมหาปิ่นนี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา”

มหาปิ่นได้ฟังตกใจสุดขีด เพราะมิได้นึกฝันเลยว่า นั่งคิดอยู่คนเดียวเวลาดึกสงัดท่านจะมาล่วงรู้วาระจิตของเราได้ รีบลุกตรงเข้าไปกราบเท้ารีบกราบเรียนว่า

“กระผมขอกราบเท้า จงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิด”

ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิบัติการของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เท่ากับเป็นบทเรียนด้านตรง

ด้านตรงให้แก่ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจุดต่างระหว่าง ปริยัติ กับ ความเป็นจริงทางการปฏิบัติ

ในที่สุดข้อวิจิกิจฉาในเรื่องรู้หรือไม่รู้เป็นอันตกไปโดยพื้นฐาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน