คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ไม่ว่าหนังสือ บูรพาจารย์ อันจัดทำโดย มูลนิธิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ไม่ว่าหนังสือ ภูริทัตตะมหาเถรานุสรณ์ อันจัดทำและตีพิมพ์โดย พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อเดือนตุลาคม 2553

มีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลำดับ เรียบเรียง กาละและเทศะซึ่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ปฏิบัติธรรม ปรารภความเพียร

พ.ศ.2461 จำพรรษาเป็นหนที่ 2 ณ ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พ.ศ.2462 จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นการจำพรรษาที่แวดล้อมด้วยศิษยานุศิษย์คนสำคัญ

ไม่เพียงแต่จะได้แก่ พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ หากยังมี พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ

ไม่เพียงแต่จะได้แก่ พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม หากยังมี พระอาจารย์สิงห์ ขันตยา คโม

ล้วนแต่ระยะกาลต่อมามีบทบาทและทรงความสำคัญเป็นอย่างสูง ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ

?ท่านได้แนะนำเพื่อความก้าวหน้าแห่งการดำเนินจิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่านทุกองค์เหล่านี้ได้บำเพ็ญได้ผลในทางปฏิบัติกันมาแล้ว เพียงเพื่อจะอบรมให้เกิดความแก่กล้าขึ้นเท่านั้น ท่านได้แนะนำถึงข้อสำคัญในเรื่องความหลงในฌาน?

ระหว่าง ฌาน กับ ญาณ มีความละเอียดอ่อนและแตกต่างกัน

บรรทัดฐานจากหนังสือ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (ชำระเพิ่มเติมช่วงที่ 1) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) บอกให้รู้ว่า

ฌาน การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ

ฌาน ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

ญาณ ความรู้ 1 ปรีชาหยั่งรู้ 1 ปรีชากำหนดรู้ 1

จากความเป็นจริงอันสะท้อนข้อต่างระหว่าง ฌาน และ ญาณ เช่นนี้เอง บันทึกธรรม ของ พระอาจารย์หลุย จันทสาโร เมื่อได้ฟังโอวาท พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ วัดป่าบ้านโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี เมื่อปีพ.ศ.2483 จึงสรุปอย่างรวบรัดว่า

?แสดงฌานเป็นที่พักชั่วคราวแล้วเจริญจิตต่อๆ ไป?

เพราะตระหนักในความหลงแห่งฌานว่า หากหลงและติดจะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม จึงเสมอเป็นเพียงที่พักชั่วคราว

เป้าหมายก็คือ จะต้องก้าวจาก ฌาน ไปสู่ ญาณ อาศัยเป็นอุปกรณ์เพื่อดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจึงจะพ้นทุกข์ ดับทุกข์ได้อย่างเป็นจริง

จะเข้าใจข้อต่างระหว่างฌานกับญาณได้ต้องอ่านจากธรรมเทศนา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

การกำหนดพิจารณาธรรมเรียกบริกรรมจิตที่กำลังทำการกำหนดพิจารณาธรรมอย่างเอาใจใส่ เมื่อได้ความแน่ใจในเหตุผลของธรรมที่พิจารณานั้นแล้วจิตจะสงบรวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอยออก ความสงบในขั้นนี้เรียกบริกรรมสมาธิหรือขณิกสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมแล้วจิตสงบรวมลงสู่ภวังค์เข้าถึงฐิติธรรม ดำรงอยู่นานหน่อยแล้วถอยออกมารู้เห็นอสุภะปรากฏขึ้น ความสงบในขั้นนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ

การกำหนดพิจารณาธรรมคืออสุภนิมิตที่ปรากฏแก่จิตที่เรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นจนเพียงพอแล้ว จิตปล่อยวางนิมิตเสียสงบรวมลงสู่ภวังค์ถึงฐิติธรรม ดำรงอยู่นานเป็นเอกัคคตามีอารมณ์เดียวสงบนิ่งแน่วแน่ มีสติรู้อยู่ว่าจิตดำรงอยู่กับที่ไม่หวั่นไหวไปมา ความสงบขั้นนี้เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

ภวังค์ คือ ภพหรือฐานของจิตท่านก็เรียกชื่อเป็น 3 ตามอาการเคลื่อนไหวของจิต

ขณะแรกที่จิตวางอารมณ์เข้าสู่ฐานเดิมของตนที่เรียกอย่างสามัญว่าปกติจิตเรียกว่า ภวังคบาท ขณะที่จิตเริ่มไหวตัวเพื่อขึ้นสู่อารมณ์อีกเรียกว่าภวังคจลนะ ขณะจิตเคลื่อนจากฐานขึ้นสู่อารมณ์เรียกว่าภวังคุปัจเฉทะ

จิตของผู้บำเพ็ญภาวนาเข้าสู่ความสงบถึงฐานเดิมของจิตแล้วพักเสวยความสงบอยู่ในสมาธินั้นนานมีอาการครบองค์ของฌานจึงเรียกว่าฌาน

เมื่อทำการพินิจพิจารณาธรรมด้วยปัญญาจนเพียงพอแล้ว จิตรวมลงสู่ภวังค์ คือฐานเดิมของจิตจนถึงฐิติ ขณะตัดกระแสภวังค์ขาดหายไปไม่พักเสวยอยู่เกิดญาณความรู้ตัดสินขึ้นว่าภาพเบื้องหน้าของเราไม่มีอีก

ดังนี้เรียกว่า ฐิติญาณ

จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่า ฌาน ไม่ว่า ญาณ ล้วนเสมอเป็นเพียงทางผ่านไปสู่อริยสัจธรรม

ฌานเสมอเป็นเพียงความสงบชั่วคราว เป็นสถานที่พักเพื่อก้าวไปสู่ญาณ และจากญาณนั้นเองที่พัฒนาไปสู่ความรู้หรือวิชชา

เมื่อมีวิชชาก็สามารถดับความไม่รู้หรืออวิชชาลงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน