คอลัมน์ มุมพระเก่า

ต่อมาชาวบ้านหาดสูง จ.ปราจีนบุรี จึงเดินทางมานิมนต์ “หลวงพ่อมา” ให้ไปจำพรรษาที่วัดหาดสูง เพื่อช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่ปรักหักพัง ซึ่งท่านก็รับนิมนต์และได้พัฒนาวัดหาดสูงจนเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนหลายๆ วัดที่อยู่ละแวกใกล้เคียงต้องนิมนต์ท่านไปช่วยบูรณะ เช่น พ.ศ.2468 สร้างโบสถ์วัดหาดสูง และโบสถ์-กุฏิวัดวังหวาย พ.ศ.2471 สร้างโบสถ์วัดสระดู่ พ.ศ.2472 ช่วยสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองโพลง พ.ศ.2474 ช่วยสร้างโบสถ์วัดทุ่งแฝก พ.ศ.2475 ช่วยสร้างโบสถ์ไม้วัดสามัคคีสโมสร ต่อมาได้ไปช่วยสร้างโบสถ์วัดหนองกะชะอยู่ 2 ปีเศษ

ด้วยผลงานการสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประชาชนทั้งหลาย พระราชกวี วัดเทพศิรินทร์ เจ้าคณะมณฑลปราจีน บุรีในขณะนั้น จึงแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2480 บวชได้เฉพาะหมวดของตน ซึ่งในสมัยนั้นถึงกับกล่าวกันว่า… “เขตเมืองปราจีน ถ้าไม่แน่ของจริง ก็อยู่ได้ไม่นาน”

หลวงพ่อมาเป็นที่นับถือของคณาจารย์แห่งเมืองปราจีนบุรีหลายรูป เช่น หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ราชาผ้ายันต์, หลวงพ่อดำ วัดศรีมงคล เจ้าแห่งปลาปักเป้า-ปลิงควายไม่กล้ากรายกล้ำ หลวงพ่อพุก วัดพระยาทำ เจ้าตำรับขี้ผึ้งนวด, หลวงพ่อบู่ วัดสระดู่ ยอดพระปิดตาเนื้อผงเมืองกบินทร์บุรี, หลวงพ่อโชติ วัดชะเอม เจ้าของสีผึ้งมหาเสน่ห์, หลวงพ่อแก้ว วัดลาดตะเคียน เจ้าแห่งควายธนู

ปีพ.ศ.2480 พล.อ.พระยาศรีสุรสงคราม (ถิ่น ท่าราบ) ได้อาราธนาท่านเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธ กรุงเทพฯ ซึ่งในงานนี้มีพระเกจิอาจารย์จากทั่วทุกภาครวม 108 รูป โดยพระคณาจารย์รูปใดปลุกเสกในด้านไหน ก็จะตอกอักษรย่อไว้กับเหรียญ เช่น ล. หมายถึงหลวงพ่อเลียบ วัดเลา บางขุนเทียน ภ. หมายถึง หลวงพ่อภู วัดต้นสน จ. หมายถึงหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ป. หมายถึง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ม. หมายถึง หลวงพ่อมา วัดหาดสูง

สำหรับวัตถุมงคลของท่านนับว่าหายากมาก โดยเฉพาะเหรียญรูปไข่รุ่นแรกสร้างปีพ.ศ.2480 ในคราวรับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ หายากสุดๆ เป็นที่หวงแหนของลูกศิษย์ มี 2 เนื้อคือ ทองแดง และอัลปาก้า จำนวนรวม 1,000 กว่าเหรียญเท่านั้น ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ปั๊มข้างกระบอก ปัจจุบันเป็นเหรียญที่หายากมาก มีราคาสูง และเป็นที่หวงแหนของชาวปราจีนมากครับ ส่วนเหรียญรุ่น 2 สร้างปีพ.ศ.2484 ประมาณ 3,000 เหรียญ เป็นรูปอาร์ม หลังจากท่านปลุกเสกได้ 2-3 วันก็มรณภาพ โดยในงานศพบรรดาพระคณา จารย์ที่เป็นสหธรรมิกได้มาร่วมงานอย่าง คับคั่ง พร้อมกับปลุกเสกเหรียญรุ่น 2 ให้เป็นกรณีพิเศษ อาทิ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก, หลวงพ่อทรัพย์ วัดใหม่กรงทอง, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อกรุด วัดชะอม ฯลฯ นับว่าเป็นเหรียญที่น่าใช้มาก

ต่อมาในคราวสงครามอินโดจีน ท่านได้ทำเสื้อยันต์พร้อมด้วยหมวกหนีบ และธงสำหรับไว้ผูกบนยอดธงโบกสะบัดไปที่ใดก็จะได้รับชัยชนะ ขณะที่ท่านเขียนจะใช้เวลา 7 วัน 7 คืน ลงอักขระในโบสถ์ โดยแทบมิได้ฉันอาหารและจำวัด หลังจากพิมพ์เสร็จแล้วท่านจะปลุกเสกพร้อมกับหุงน้ำมันพรมไปที่วัตถุมงคลนั้น

สำหรับเสื้อมีทั้งสีแดงและสีขาว ชายเสื้อจะจารึกฉายาของท่านว่า “จตฺตาลโย” ซึ่งจะดีทางคงกระพัน ส่วนหมวกหนีบใช้ทางแคล้วคลาด โดยเฉพาะธง ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิต ไม่ว่างานวัดที่ใด จะต้องนำธงของท่านไปปักไว้ภายในเขตงานรวม 4 ด้าน ถ้าธงพัดไปทางใด ผู้คนจะมาจากทางนั้นมากเป็นพิเศษ

หลวงพ่อมาละสังขารตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มิ.ย.2484 เวลา 14.00 น. รวมอายุ 63 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน