คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

“พระชุดเบญจภาคี” ซึ่งมีทั้งหมด 5 ประเภท ซึ่งจะมีประวัติวิธีการสร้างและเอกลักษณ์แม่พิมพ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไป เริ่มด้วยเนื้อมวลสารสามารถแยกเนื้อมวลสารออกได้เป็นเนื้อผง และเนื้อดินที่ผ่านการเผา

“พระเนื้อผง” จะมีเฉพาะพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งสร้างและปลุกเสกโดยใช้ยอดพระคาถาชินบัญชร อันนับเป็นต้นแบบของพระผงในยุคแรกๆ โดยใช้ปูนเปลือกหอยเป็นมวล สารหลัก มีผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงตรีนิสิงเห ผงมหาราช ผงพุทธคุณ เป็นส่วนผสมผสาน รวมกับส่วนผสมเฉพาะของท่าน เจ้าประคุณสมเด็จฯ อาทิ เศษอาหาร จีวร ดอกไม้บูชาพระ ฯลฯ ใช้น้ำมัน ตั้งอิ้วเป็นตัวประสาน นำมากดลงแม่พิมพ์ พอหมาดๆ จึงแกะจากแม่พิมพ์ ตัดขอบ ตากให้แห้ง หลังจากนั้นจะ นำมาบรรจุกรุหรือไม่ก็ลงรักปิดทอง อย่างไรก็ตามแต่ โดยมีการพิจารณาเอก ลักษณ์เฉพาะกันเป็นกรณีๆ ไป

ส่วนที่เหลือเป็น “พระเนื้อดินเผา” อีก 4 พิมพ์ คือ พระนางพญา พระรอด พระกำแพงซุ้มกอ และ พระผงสุพรรณ ซึ่งมีคุณลักษณะ ที่เหมือนกันประการหนึ่งก็คือมวลสารหลักเป็น “ดินมงคล” อันเป็นดินบริสุทธิ์ที่ปราศจากการเหยียบย่ำ ตามคติโบราณจะนำดินจากสังเวชนียสถาน คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน มาจัดสร้าง ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ “ดินกลางใจเมือง” ซึ่งถือกันว่าเป็นดินบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์

เมื่อได้ “ดิน” ที่ต้องการแล้ว นำมาผสมกับมวลสารประกอบต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละพิมพ์ อันได้แก่ เนื้อว่าน น้ำว่าน เกสรดอกไม้ ฯลฯ หมักและนวดให้ได้ที่ จากนั้นกดเนื้อดินกับแม่พิมพ์ดินเผา แล้วนำมาผึ่งให้แห้งก่อนนำเข้าเตาเผา ซึ่งอาจใส่หม้อหรือไหดินเผาเพื่อไม่ให้องค์พระเปื้อนดินทรายที่รองพื้นอยู่ภายในเตา เพื่อเข้าสู่กระบวนการผ่านความร้อน กลายเป็นเนื้อดินเผา ก็เป็นอันเสร็จกรรมวิธี

การเผาในสมัยก่อนนั้น เนื่องจากความกว้างของพื้นที่ภายในเตา ประกอบกับการสุมฟืนแบบโบราณ ทำให้องค์พระได้รับความร้อนไม่เท่ากัน ลักษณะสีสันจึงแตกต่างกันออกไป ได้แก่ สีเหลือง สีแดง สีมอย สีพิกุลแห้ง สีดำ และสีเขียว ซึ่งสีที่เกิดนี้สามารถอธิบายถึงลักษณะอันเกิดจากการเผาได้อันเป็นจุดหนึ่งของการพิจารณา อาทิ องค์พระสีดำ จะมีขนาดใหญ่กว่าสีอื่น เนื่องจากได้รับความร้อนน้อยจึงไม่เกิดการหดตัวของเนื้อดินเท่ากับสีอื่น องค์พระสีเขียว เป็นพระได้รับความร้อนมากกว่าสีอื่น จึงมีลักษณะเล็กแกร่ง หรือที่คนโบราณเรียกว่า “ดินตรัสรู้” หรือ “แก่ไฟ”

เนื้อมวลสาร ความร้อน หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ของพระแต่ละพิมพ์ ก็จะทำให้องค์พระมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เราก็ต้องค่อยๆ ศึกษาและพิจารณากันไป เช่น

“พระสมเด็จ” เนื่องจากเป็นพระเนื้อผงที่มีส่วนผสมต่างๆ ตามสูตรของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อผ่านกาลเวลายาวนานจึงเกิดการเปลี่ยนแปรสภาพเป็นพุทธลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ เม็ดพระธาตุ ตลอดจนร่องรอยการหดตัวของเม็ดธาตุกับเนื้อองค์พระ รอยรูเข็ม และรอยปูไต่หรือร่องรอยของมวลสารที่สลายตัวบนเนื้อองค์พระ

“พระนางพญา” ดินที่ใช้จะเป็นดินในบริเวณจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีส่วนผสมของกรวดทราย เราจะสังเกตเห็นเม็ดทรายละเอียดปะปนอยู่ ซึ่งบางคนเข้าใจว่าเป็นแร่ธาตุ แต่ความจริงก็คือเม็ดกรวดทราย และเมื่อผ่านการเผาก็จะปรากฏเม็ดผดซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของกรวดทรายที่ถูกความร้อน โดยเฉพาะกรุพระที่อยู่ในพระเจดีย์ที่บรรจุเป็นกรุที่เปียกชื้นเรียกว่าเกือบจะแช่ใน น้ำ ที่เรียกว่า “กรุน้ำ” นั้น ผิวองค์พระก็จะถูกน้ำกัดกร่อน มีเม็ดกรวดทรายลอยเป็นเม็ดผดเห็นได้ชัด “เม็ดผด” อันกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณา

“พระผงสุพรรณ” โบราณเรียก เกสรสุพรรณเนื่องจากเนื้อดินมีความละเอียดมากไม่มีเม็ดกรวดทรายเจือปน เมื่อนำมาผสมกับว่านและเกสรดอกไม้ เนื้อขององค์พระจะค่อนข้างหนึกนุ่ม จนบางท่านเข้าใจว่าเป็นพระเนื้อผง ซึ่งความจริงเป็นพระเนื้อดิน

“พระกำแพงซุ้มกอ” แต่ก่อนเป็นพระเม็ดขนุน แต่ยาวไปเลยเปลี่ยน เรามักจะพบจุดเล็กๆ สีน้ำตาลแก่ แตกตัวออกคล้ายดอกมะขามที่เรียกกันว่า “ว่านดอกมะขาม” หรือ “แร่ดอกมะขาม” ซึ่งบางคนเข้าใจว่าเป็นว่านที่เป็นส่วนผสมของมวลสาร ความจริงเป็นแร่ธาตุที่ปนอยู่ในเนื้อดิน เช่น เหล็ก หรือเป็นเนื้อดินอื่นๆ เช่น ดินลูกรัง ที่ผสมผสานอยู่ เมื่อถูกความร้อนจะละลายตัวออกมาจับบนผิวขององค์พระ เพราะถ้าเป็นว่านหรือพืชต่างๆ จะต้อง สลายตัวไปหมดแล้วเมื่อถูกความร้อนในขั้นตอนการเผาไปแล้ว

“พระรอด วัดมหาวัน” เป็นพระเนื้อดินเผาขนาดเล็ก แตกกรุมากว่าร้อยปีที่วันมหาวัน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี จึงสันนิษฐานว่าพระรอดน่าจะมีอายุอยู่ในราวพันกว่าปีเช่นกัน พระรอด ขุดค้นพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เป็นพระที่มีพุทธศิลปะงดงาม พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย อยู่เหนืออาสนะ มีโพธิ์เป็นบัลลังก์ด้านหลัง สามารถแบ่งแยกพิมพ์ได้เป็น 5 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าและหาได้ยากยิ่งครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน