คอลัมน์ คำคมคารมเซียน

เขียนถึงพระหลายประเภทตามที่เซียนเขาจัดเกรดแยกไว้

ทั้ง “พระเก่าไม่รู้ที่-ดีไม่รู้วัด” “พระกฐิน-ผ้าป่า” และ “พระน้ำจิ้ม”

ให้นึกถึงพระอีกแนวที่ต้องไม่เลยข้าม…ควรศึกษา

แล้วคุณจะรู้ว่าพระเครื่อง ในเมืองไทยมีให้เลือกบูชาจนตาลาย

พระดีพิธีใหญ่ : พระเครื่อง ที่มีพิธีสร้างอย่างซับซ้อนและยิ่งใหญ่ มักมีพระคณาจารย์มาร่วมปลุกเสกมากมาย

ต้องเท้าความกันก่อนว่าพระเก่าที่สร้างฝังกรุไว้แต่ยุคโบราณกาลนั้นก็คือ “พระดีพิธีใหญ่” แทบทั้งสิ้น

พิธีกรรม-การสร้างล้วนพิถีพิถัน ศักดิ์สิทธิ์และเคร่งครัด

โดยมีฤาษีเป็นเจ้าพิธี มีกษัตริย์หรือชนชั้นเจ้านายผู้สูงศักดิ์เป็นผู้ดำริสร้าง

วัตถุประสงค์ก็เพื่อสืบทอดพระศาสนา ไม่มีใครกล้านำไปใช้บูชาส่วนตัว

แต่กาลเวลาผ่านไปคนเริ่มไม่กลัว นำ พระกรุไปขึ้นคอ ก่อเกิดประสบการณ์ปาฏิหาริย์มากมาย

กลายเป็นกระแสความนิยมชมชอบต่อๆ กันมา ไม่ว่าชายหรือหญิง

ทีนี้พอใครอยากได้ก็ต้องไปพึ่งพิง ขอกับพระคุณเจ้าที่วัด

พอนานวันเข้า พระกรุเริ่มร่อยหรอ แต่ก็ยังมาขอกันต่อเนื่อง

ร้อนถึงพระเกจิอาจารย์ในยุคหลังๆ ต้องสร้างพระเครื่อง ขึ้นมาใหม่ไว้แจกญาติโยม

ท่านก็ค้นหา-สร้างผงพุทธคุณวิเศษ หรือไม่ก็เล่นแร่แปรธาตุจนได้เป็นโลหวัตถุทนสิทธิ์พิสดาร

อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวเพียงรูปเดียว ไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับใคร

ทำแจกไปตามมีตามเกิด…ไม่มีพิธี รีตองใหญ่โต

แต่ในบางช่วงเวลาที่ต้องการระดมทุน เพื่อนำไปอุดหนุนบำรุงชาติ-พระศาสนา บูรณะ-ซ่อม-สร้างถาวรวัตถุ หรืองานมงคลมหากุศลสำคัญต่างๆ

ก็จะเกิดธรรมเนียมต้องมีของสมนาคุณแลกเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ที่ระลึกในการทำบุญ

การให้วัตถุมงคลก็แลจะเหมาะสมดี

เมื่อต้องการปัจจัยมาก ก็ต้องชวนคนมาร่วมกันทำบุญมากๆ จึงต้องสร้างพระมากๆ

เมื่อต้องสร้างพระมาก งบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหลายก็ต้องมากมายตามไปเป็นเงาตามตัว

เข้าทำนอง…เล็กๆ…ไม่ แต่ใหญ่ๆ…ทำ

พระที่เกิดจากเจตนา “ดี” จึงต้อง “พิธีใหญ่” …ในที่สุด

พิธีกรรมก็ละเอียดยุ่งยาก ต้องถูกต้องตาม อย่างจารีตประเพณีโบราณ

ต้องนิมนต์เหล่าพระคณาจารย์ ผู้เคร่งขลัง ชื่อดังประจำยุคมานั่งปรก-ปลุกเสก-สวดกันแน่นวัด

บางครั้งก็จัดมามากถึง…108 รูป!

ประธานในพิธี บางทีก็มีทั้งฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายพราหมณ์

ฝ่ายฆราวาสก็มีตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ลงไปถึงคหบดี ขึ้นอยู่กับพิธีระดับไหน

ถ้าจะถามว่า “พระดีพิธีใหญ่” มีเท่าไหร่รุ่นแล้วในยุครัตนโกสินทร์ คงต้องกินเวลานานกว่าจะตอบหมด

จึงลองไล่เรียงตามลำดับปีพ.ศ. เอาเท่าที่พอจะจดจำได้นะครับ

ยุคก่อนกึ่งพุทธกาล ได้แก่ เหรียญสมโภชพระพุทธนรสีห์ ร.ศ.118 (2442) พระชัยฯ สามเหลี่ยมวัดราชบพิตร 2466 เหรียญพระแก้วมรกต 2475 เหรียญกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ 2481…

พระกริ่ง-พระชัยฯ วัดชนะสงคราม 2484 พระพุทธชินราชอินโดจีน 2485 สมเด็จเผ่า 2495 พระไพรีพินาศ 2495 พระรอดวัดพระสิงห์ 2496 หลวงพ่อโสธร 2497…

ยุคหลังกึ่งพุทธกาล ยิ่งมากเช่น พระ 25 พุทธศตวรรษ 2500 พระวัดประสาท 2506 สมเด็จบางขุนพรหม 2509 พระกริ่ง-พระชัยฯ นวลจันทร์ 2512 พระ 100 ปีพระอาจารย์มั่น 2514…

สมเด็จวัดระฆัง 100 ปี 2515 หลวงพ่อเงินวัดบางคลาน 2515 พระพิธีจักรพรรดิมหาพุทธาภิเษก 2515 พระกริ่ง-พระชัยฯ 84 ปีศิริราช 2517 พระพิธีจตุรพิธพรชัย 2518 พระกริ่งปัญจาคีรี 2519 พระกริ่ง-พระชัยฯ ปวเรศ 2530 เป็นต้น

นี่แค่บางส่วนของ “พระดีพิธีใหญ่” เลือกกันไม่ถูกอย่างที่บอกเลยใช่มั้ย

คงให้รายชื่อบอกเล่าปูทางเท่านี้ก่อน ไม่ต้องเดือดร้อนหามาครอบครองทั้งหมดนะครับ…จนแย่

ไว้ตอนหน้าผมจะหามาเพิ่มและจะเติมรายละเอียดในบางรุ่น

คัดแต่เฉพาะที่คุณคงชอบ-สนใจ แบบว่า…

พระดีพิธีใหญ่ แต่…ไม่แพง! ชอบมั้ย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน