“ราม วัชรประดิษฐ์”

กลางอาทิตย์นี้ ก็จะถึงเทศกาลสำคัญ “ตรุษจีน” เทศกาลปีใหม่ของจีนตามปฏิทินจีน เช่นเดียวกับ “วันสงกรานต์” ของไทย ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะในเมืองไทยนั้นมีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากมายทั่วทั้งประเทศ

เชื่อกันว่า ประเพณีตรุษจีน มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว บ้างเรียกว่า “วันชุงเจ๋” ซึ่งหมายถึง เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนถึงเทศกาลประเทศจีนจะปกคลุมไปด้วยหิมะ ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิในแต่ละปีเป็นวันสำคัญและจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น

นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น “ซุ่ย” หมายถึง การโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ หรือ “เหนียน” หมายถึง การเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น โดยการกำหนด “วันตรุษจีน” ตามประเพณี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า

การเตรียมงานฉลองนั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เดือนก่อนวันตรุษจีน คล้าย “วันคริสต์มาส” มีการจัดเตรียมซื้อของขวัญ-การ์ดอวยพร, ของประดับบ้านเรือน เสื้อผ้าใหม่ ฯลฯ ทำความสะอาดบ้านเรือน ครั้งใหญ่ โดยเชื่อว่าเป็นการกวาดเอาโชคร้ายออกไป จากนั้นประดับประดาประตูหน้าต่างด้วยกระดาษแดงและโคมไฟที่มีคำอวยพรต่างๆ อันเป็นสิริมงคล

การฉลองเทศกาลตรุษจีนตามประเพณีจริงๆ แล้ว จะเป็นการเฉลิมฉลองที่ยาวนานถึง 15 วัน วันแรกของปีใหม่เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อด้วยเชื่อว่าเป็นการต่ออายุ วันที่ 2 เซ่นไหว้เทวดาและบรรพชนทั้งหลาย

ทั้งยังเชื่อว่า “เป็นวันที่สุนัขเกิด” ต้องทำดีเป็นพิเศษกับสุนัขเพื่อความเป็นมงคล วันที่ 3-4 เป็นวันที่บุตรเขยต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยาย วันที่ 5 เรียก “พูวู” ทุกคนจะอยู่บ้าน เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะถือว่าเป็นการนำโชคร้ายมาสู่ วันที่ 6-10 เป็นวันเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และไปวัดสวดมนต์ขอพร เพื่อความสุขความเจริญ

วันที่ 7 สมัยก่อนชาวนาจะนำผลผลิตของตนออกมา และทำน้ำจากผัก 7 ชนิดเพื่อเฉลิมฉลอง วันนี้ยังถือ “เป็นวันเกิดของมนุษย์” ดังนั้น อาหารจะเป็น “หมี่ซั่ว” เพื่อชีวิตยืนยาว และ “ปลาดิบ” เพื่อความสำเร็จ

วันที่ 8 ครอบครัวจะรับประทานอาหารร่วมกัน และตอนเที่ยงคืนร่วมกันสวดมนต์ขอพร “เทียนกง เทพแห่งสวรรค์” วันที่ 9 เซ่นไหว้ขอพร “เง็กเซียนฮ่องเต้” วันที่ 10-12 เป็นวันเพื่อนฝูงและญาติมิตร ที่จะเชิญกันมารับประทานอาหารเย็น

วันที่ 13 เป็นวันที่รับประทานข้าวกับผักดองกิมจิ เพื่อชำระล้างร่างกายจากที่ทานอาหารมามากมาย วันที่ 14 เตรียมงานฉลองโคมไฟ วันที่ 15 งานฉลองโคมไฟ ปิดท้ายเทศกาลอย่างมีความสุข ความสามัคคี ความมุ่งมั่นในชีวิตและสุขภาพ

สำหรับประเทศไทย ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติเพียง 3 วันหลัก คือ วันจ่าย วันไหว้ และ วันเที่ยว หรือ วันถือ ซึ่ง “ตรุษจีนปี 2561” นี้ “วันจ่าย” คือ วันที่ 14 ก.พ. “วันไหว้” คือวันที่ 15 ก.พ. และ “วันเที่ยว หรือวันถือ” คือวันที่ 16 ก.พ.

หลายๆ ท่านก็คงเตรียมการกันไว้แล้วทั้งการจับจ่าย และวางแผนการเที่ยวใน “วันถือ” ซึ่งเป็นวันหยุดยาวอีกช่วงหนึ่งของปีครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน