“ราม วัชรประดิษฐ์”

ในประเทศไทยเรา ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติหลักของ “วันตรุษจีน” อยู่ 3 วัน คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว หรือวันถือ “วันจ่าย”

ซึ่งตรุษจีนปี 2561 “วันจ่าย” คือ วันก่อนวันสิ้นปี วันที่ 14 ก.พ. เป็นวันที่ออกมาจับจ่ายข้าวปลาอาหาร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับค่ำคืนของครอบครัวและการเซ่นไหว้ในวันรุ่งขึ้น ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ “ตี่จู่เอี๊ย” ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะ หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว

“วันไหว้” คือ วันสิ้นปี วันที่ 15 ก.พ. จะมีพิธีไหว้ 3 ครั้งช่วงกลางวัน คือ ตอนเช้าไหว้เทพเจ้า ตอนสายไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ และญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (ไม่เกินเที่ยง) ตอนบ่ายไหว้ผีไม่มีญาติ พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคลและ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย

จากนั้น ในช่วงค่ำประมาณ 23.00-00.59 น. เป็นพิธี “ไหว้รับองค์ไฉ่ซิงเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ” ซึ่งปีนี้มาทางทิศเหนือ มงคลฤกษ์ 23.14-23.39 น. ขึ้นธูปคนแรก (ใช้ธูป 12 ดอก) ขอพรให้กิจการเจริญรุ่งเรือง การงานราบรื่น มั่งมีศรีสุข โชคลาภไม่ขาดสาย

อาหารไหว้เจ้า หรือของไหว้ตรุษจีนนั้น มักจัดเตรียมประมาณ 5-10 อย่าง ตามสถานภาพของเจ้าบ้าน การไหว้ตามประเพณีโบราณที่ต้องจัดเนื้อสัตว์ 3 ชนิด ผลไม้ 3 อย่าง ขนม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความหมายที่เป็นมงคลทั้งสิ้น อย่างของคาว มี “ไก่” หมายถึง ความสง่างาม ความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และที่ต้องเป็นไก่เต็มตัว เพราะมีความหมายถึง ความสมบูรณ์ “เป็ด” หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด ความสามารถหลากหลาย “หมู” หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ “ปลาและปลาหมึก” หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์

ส่วน “บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว” หมายถึง อายุยืนยาว แต่สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ “เต้าหู้ขาว” เนื่องจากชาวจีนถือว่าสีขาว เป็นสีสำหรับงานโศกเศร้า

ผลไม้ “กล้วย” หมายถึง กวักโชคลาภมาสู่ มีลูกมีหลานเต็มบ้าน “แอปเปิ้ล” หมายถึง ความสุขและสันติภาพ “สาลี่” หมายถึง โชคลาภมาสู่เช่นกัน แต่ไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ “ส้มสีทอง” หมายถึง ความสวัสดิมงคล “องุ่น” หมายถึง ความเพิ่มพูน “สับปะรด” หมายถึง มีโชคลาภมาหา

“ขนมเข่ง” คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ถ้าเป็น “ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม” หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์ “ขนมเทียน” คือ ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์ “ขนมไข่” คือ ความเจริญเติบโต “ขนมถ้วยฟู” คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู “ขนมสาลี่” คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู ฯลฯ หรือแม้แต่เครื่องปรุง เช่น “เม็ดบัว” หมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย “เกาลัด” หมายถึง เงิน “ถั่วตัด” หมายถึง แท่งเงิน และ “สาหร่ายดำ” ซึ่งออกเสียงแล้วคล้ายความร่ำรวย เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีกระดาษเงินกระดาษทอง ประการสำคัญคือ การตั้งใจไหว้ สักการะและขอพรด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ย่อมสร้างมหามงคลยิ่ง

ส่วน “วันเที่ยว” หรือ “วันถือ” เป็นวันที่ชาวจีนถือเป็นสิริมงคล จะพากันไปไหว้พระขอพรตามศาสนสถานต่างๆ จากนั้นไหว้ ขอพรและอวยพรญาติมิตร ผู้หลักผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพรัก โดยนำ “ส้มสีทอง” ไปมอบให้กันและกัน ทุกคนจะพูดแต่สิ่งดีๆ ที่เป็นมงคล โดยส่วนใหญ่คำอวยพรวันปีใหม่จะพูดว่า “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” หรือ “ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ” แปลความว่า คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของตรุษจีนที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ การแจกและรับ “อั่งเปา” กันอย่างมีความสุข อั่งเปา ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง หรือเรียกว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งผู้ใหญ่จะมอบให้ผู้น้อย ในสมัยก่อนเป็นเงินรูก็จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ ซึ่งจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อถือในเรื่องโชคลางต่างๆ เพื่อให้การขอพร คำอวยพร และความเป็นมงคล คงอยู่ตลอดปี อาทิ ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น “สีแดง” ถือเป็นสีมงคล งดทำบาป ไม่พูดจาไม่ดี ไม่ทวงหนี้ ไม่ให้ยืมของ ไม่จับไม้กวาด ไม่ซักผ้า ไม่สระผม หรือไม่ร้องไห้ เป็นต้น

ยิ่งปีนี้ ใน “วันถือ” ที่ 16 ก.พ. ยังตรงกับ “วันขอเงินจากพระจันทร์” ซึ่งมีหลายๆ ท่านเคยสมปรารถนากันมาแล้ว จึงเรียกได้ว่า “เฮง 2 ต่อ” กันทีเดียวครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน