“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระกรุพระเก่า กันบ้าง ซึ่งช่วงเวลานี้ไม่ค่อยได้มีใครพูดถึงพระกรุพระเก่ากันนัก ความจริงพระกรุนั้นเป็นพระที่มีอายุการสร้างมาช้านาน ถ้าเราศึกษาประวัติและสถานที่ที่พบกรุพระ ศึกษาเนื้อหาความเก่า ก็จะสนุกและน่าสนใจมากและในวันนี้ผมจะพูดถึงพระกรุหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ บางท่านอาจจะสงสัยมีด้วยหรือพระกรุที่นครสวรรค์ ซึ่งความจริงแล้วนครสวรรค์ก็เป็นเมืองเก่ามีมาแต่โบราณ ครับพระกรุที่ผมจะพูดถึงก็คือ พระนางกรุวัดหัวเมืองครับ

นครสวรรค์ก่อนที่จะมีชื่อนี้ก็มีประวัติความเป็นมาแต่ก่อนเก่า กล่าวคือ เมืองนี้มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดีและเป็นเมืองสืบต่อมาโดยตลอด เมืองนี้เดิมมีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อเช่น เมืองพระบาง และยังคงหลงเหลือซากเมืองเก่าหลงเหลืออยู่ ที่ดอนชายเขาฤๅษีลงมาจดวัดหัวเมือง มุมเมืองตั้งอยู่ตรงวัดแห่งนี้ ยังพอมีแนวเนินดินกำแพงเมืองพอดูเป็นเค้าๆ พอเห็นได้ จากหลักศิลาจารึกพบที่วัดเขากบ (หลักที่ 11) กล่าวถึง พระยาธรรมมิกราช (พระเจ้าลิไทกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง) ได้ไปจำลองรอยพระพุทธบาทมาจากทวีปลังกาที่สร้างประดิษฐานไว้ที่เขาปากพระบาง อีกหลักหนึ่งบนยอดเขากบนั้น

มีใจความกล่าวถึงการสร้างวัดเขากบ เจดีย์วิหารฯ เพื่อเป็นพุทธบูชาไว้กลางเวียง อุทิศส่วนกุศลให้แก่ พระยาราม ผู้เป็นน้อง จากข้อความในศิลาจารึกเหล่านี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เมืองพระบางเป็นเมืองที่สร้างโดยกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง

นอกจากนี้เมืองนครสวรรค์ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น เมืองปากน้ำโผล่ ด้วยเหตุที่ว่าเป็นจุดที่แม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกัน ณจุดนี้ และเป็นที่ตั้งของเมือง เมืองนี้ ต่อมาเรียกกันเพี้ยนไปอีกว่า เมืองปากน้ำโพ และอีกชื่อหนึ่งเมืองนี้ ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาเช้าพระอาทิตย์จะส่องชอนเข้าไปในเมืองอย่างเต็มที่ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ เมืองชอนตะวัน และ ต่อมาเพื่อที่จะตั้งชื่อเมืองให้เป็นสิริมงคล จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นครสวรรค์”

ครับทีนี้เรามาพูดถึงพระเครื่องที่ พูดเกริ่นไว้ คือพระนางกรุวัดหัวเมือง มูลเหตุของการพบพระเครื่องกรุนี้คือ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2500 กว่าๆ ทางจังหวัด ได้ขยายถนนและขุดลอกวางท่อประปาบริเวณวัดหัวเมือง ในการนี้เองได้ขุดพบกรุพระ พบอยู่ 2 พิมพ์คือ พิมพ์หนึ่งเรียกว่า นางกรุวัดหัวเมืองตามสถานที่ขุดพบ อีกพิมพ์หนึ่งเรียกว่าพิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว ตามรูปลักษณ์ขององค์พระ

พระนางกรุวัดหัวเมือง เป็นพระปางประทับนั่งมารวิชัย ทรงสามเหลี่ยม จึงเรียกพระนางตามที่นิยมเรียกกัน เนื้อของพระที่พบเป็นเนื้อชินตะกั่ว สนิมแดงทั้ง 2 พิมพ์ ลักษณะเป็นสนิมไขขาวปกคลุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ในทางโบราณคดี พระกรุวัดหัวเมืองนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพระสมัยสุโขทัยยุคปลายจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น สืบเนื่องจากหลักศิลาจารึกและรูปแบบศิลปะ

พระกรุวัดหัวเมืองเป็นพระกรุที่น่าสนใจทั้งทางด้านโบราณคดีและเป็น พระเก่าแก่ เนื้อหาสนิมแดงก็สวยซึ้ง แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก สนนราคาก็ยังไม่สูงมากนักครับ และในวันนี้ผมได้นำรูปพระนางกรุวัดหัวเมืองจากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน