“เชิด ขันตี ณ พล”

“พระครูโยคีอุทัยทิศ” หรือ “หลวงปู่พิมพ์” อดีตเจ้าอาวาสวัดอุทัยทิศ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นบูรพาจารย์ที่เรืองวิทยาคมของภาคอีสาน มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4

เป็นพระที่มีเมตตาธรรมสูง วิทยาคมแก่กล้า มีปฏิปทาอันงดงามมีพระเกจิและพระเถระชื่อดังหลายรูปที่สืบสายธรรมต่อ อาทิ พระครูวินัยรสฤดี อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม (มรณภาพ พ.ศ.2493 อายุ 73 ปี) พระสารคามมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (มรณภาพ พ.ศ.2504 อายุ 76 ปี) หลวงปู่ป้อ วัดบ้านเอียด (มรณภาพปี พ.ศ.2502 อายุ 87 ปี) เป็นต้น

สำหรับการสืบค้นอัตโนประวัติหลวงปู่พิมพ์ ทราบเพียงว่าท่านเกิดที่บ้านจังหาร จ.ร้อยเอ็ด ประมาณปีพ.ศ.2352

อายุ 20 ปี เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทที่วัดบ้านจังหาร จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความขยันขันแข็ง

ด้วยความมุ่งมั่น ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัยที่ลึกซึ้ง ท่านเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่สำนักวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี (สันนิษฐานว่าเป็นวัดเลียบ) ศึกษามูล กัจจายน์ บาลี อักขระโบราณ ไทยน้อย อักษรลาว หลังมุมานะเล่าเรียนอยู่หลายปีก็มีความรู้แตกฉานสามารถพูดอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว

ยังได้ศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิรูปหนึ่ง เก่งด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี กันบ้านกันเมือง ขณะเดินธุดงควัตรไปในป่าประเทศลาว

จำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดบ้านเกิดมาโดยตลอด และจากการที่ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย มีพุทธาคมแก่กล้า ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็วในเขตอีสาน

พ.ศ.2444 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใต้นางใย (วัดอุทัยทิศ ในปัจจุบัน) ว่างลง ชาวบ้านในพื้นที่ได้นิมนต์หลวงปู่พิมพ์เข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใต้นางใย ซึ่งท่านมิได้ขัดศรัทธาแต่อย่างใด

แม้จะมีอายุมากแล้ว แต่สุขภาพร่างกายของหลวงปู่ยังแข็งแรงดี ได้พัฒนาเสนาสนะภายในวัดให้เจริญรุ่งเรือง

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และประชาชนทั่วไป โดยท่านได้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทย และมูลกัจจายน์ ได้จัดหาพระสงฆ์และฆราวาสที่มีความรู้มาเป็นครูสอนประจำ ทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุคนั้น แต่ละปีจะมีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนหลายร้อยคน

ด้วยวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้หลวงปู่พิมพ์เป็นพระที่ประชาชนชาวเมืองมหาสารคามเคารพนับถือ

ครั้งหนึ่ง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าคณะมณฑลอีสาน ได้มาตรวจการคณะสงฆ์เมืองมหาสารคาม และมาแวะที่วัดใต้นางใย ได้มีการสนทนาธรรมกับหลวงปู่พิมพ์ ประจักษ์ด้วยสายตาเห็นว่าหลวงปู่พิมพ์ถึงแม้จะย่างวัยชราแล้ว แต่ยังคงอุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างไม่ย่อท้อ

ได้แต่งตั้งสมณศักดิ์ให้เป็น พระครูโยคีอุทัยทิศ และเป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร หลวงปู่พิมพ์ที่ได้ปวารณาตนสืบทอดพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน พ.ศ.2465 มรณภาพด้วยโรคชรา สิริอายุ 113 ปี พรรษา 93 นับเป็นบูรพาจารย์ที่พรรษายืนยาวอีกรูปหนึ่ง

ต่อมา สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดใต้นางใย เป็นวัดอุทัยทิศ ตามนามสมณศักดิ์ของพระครูโยคีอุทัยทิศ เรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน