คอลัมน์ มุมพระเก่า

หากจะเอ่ยถึง “พระสมเด็จบางขุนพรหม” ซึ่งเป็นพระในสกุล “พระสมเด็จ” ต้นกำเนิดโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แล้ว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า เป็นที่พึงปรารถนาแก่นักสะสมพระเครื่อง ประชาชนที่เคารพกราบไหว้พระคุณอันประเสริฐของท่าน นับวันมงคลวัตถุพระพิมพ์สมเด็จจะหาได้ยากยิ่ง ส่วนสนนราคานั้นก็สูงลิบลิ่วจนยากจะเอื้อมถึง แถมบางครั้งยังต้องเสี่ยงกับของเลียนแบบที่เหมือนจนแทบจะแยกไม่ออก

ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ก็คงคว้ามาสุ่มสี่สุ่มห้า พาให้น้ำตาตกในได้ง่ายๆ

หากจะนึกย้อนถึงที่มาที่ไปของ “พระสมเด็จบางขุนพรหม” ก็คงต้องย้อนไปตอนที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านได้เริ่มก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางโปรดสัตว์ (ยืนอุ้มบาตร) โดยใช้ซุงทั้งต้นเป็นฐานราก และควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวท่านเองที่วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้จำพรรษาอยู่เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร ในระหว่างการก่อสร้าง “เสมียนตราด้วง” ต้นสกุล “ธนโกเศศ” และเครือญาติได้ปวารณาตนเองเป็นโยมอุปัฏฐากของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

“เสมียนตราด้วง” ได้มีจิตศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดบางขุนพรหม” ขึ้นใหม่ และได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ไว้ เพื่อบรรจุพระพิมพ์สมเด็จ ซึ่งเสมียนตราด้วงได้อาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ประกอบพิธีสร้างขึ้นพร้อมกับเมตตาปลุกเสกให้ โดยจำนวนพระที่สร้างมีประมาณ 84,000 องค์ เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้วก็บรรจุกรุไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่หลังพระอุโบสถ

“วัดบางขุนพรหม” ในอดีต มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ชราภาพ ท่านมาจำพรรษาหาความสงบเงียบ ขณะนั้นชาวบ้านได้นำที่ดินมาถวายเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ท่านสร้างพระหลวงพ่อโตประดิษฐานเป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชน ทำให้วัดบางขุนพรหมมีอาณาเขตกว้างขวางมากขึ้น ทิศตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือติดคลองเทเวศร์ ทิศตะวันออกถึงบ้านพาน บ้านหล่อพระนคร

ในขณะนั้นทางราชการได้สร้างทางตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านกลางวัดบางขุนพรหม ทำให้วัดบางขุนพรหมแยกออกเป็น 2 วัด คือวัดบางขุนพรหมใน และวัดบางขุนพรหมนอก ปัจจุบันวัดบางขุนพรหมใน คือ “วัดใหม่อมตรส” สถานที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์ และวัดบางขุนพรหมนอก คือ “วัดอินทรวิหาร” สถานที่ประดิษฐานพระหลวงพ่อโตยืนองค์ใหญ่

“พระมหาเจดีย์” วัดบางขุนพรหมใน องค์นี้แหละเป็นที่มาของ “พระสมเด็จบางขุนพรหม”

ต่อมาได้มีการนำพระสมเด็จออกมาจากองค์เจดีย์ด้วยวิธีการต่างๆ จนทางวัดใหม่อมตรส จึงต้องดำเนินการเปิดกรุอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2500 โดยมี จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นประธานการเปิดกรุ พระภิกษุ-สามเณร ช่วยกันนับจำนวนพระที่สมบูรณ์และแตกหัก ปรากฏว่าองค์พระสมบูรณ์มีน้อย ส่วนใหญ่แตก หัก ขี้กรุผสมจับตัวแน่น บางองค์เป็นก้อนสีน้ำตาลแก่

เมื่อปี 2509 ในคราวเดียวกับงานพิธีผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิต ซึ่งในปีนั้นทางวัดใหม่อมตรส (บางขุนพรหม) ได้จัดสร้างพระสมเด็จเนื้อผงขึ้นใหม่ 9 พิมพ์ทรง และพิมพ์พิเศษคือ “พิมพ์ไสยาสน์” โดยถอดแบบพิมพ์จากของเดิมที่ขุดได้จากในกรุเจดีย์องค์ใหญ่

การสร้างพระสมเด็จรุ่นปี 2509 นี้ ได้ใช้เศษพระสมเด็จแตกหักจำนวนมาก เป็นส่วนผสมในการสร้างพระทั้งหมด 84,000 องค์ และเมื่อประกอบพิธีพุทธาภิเษกเสร็จแล้ว ก็ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านทำบุญบูชาองค์ละ 10 บาท สำหรับพระที่เหลือจากการเช่าบูชา ทางวัดได้นำเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์เดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน