พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดเก่าแก่จังหวัดหนึ่งของไทย มีวัดวาอารามมากมาย รวมถึงพระพุทธรูป-พระเครื่องกรุเก่าที่นับเป็นมรดกล้ำค่าและเป็นที่นิยมสืบต่อกันมา นอกจากนี้ ยังมีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วประเทศมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน หนึ่งในพระเกจิยุคเก่าที่ยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาและกล่าวขานถึงมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งชาวเมืองสิงห์บุรีและใกล้เคียง รวมถึงแวดวงผู้นิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ ซึ่งก็คือ หลวงพ่อลา ปุณณชิ วัดโพธิ์ศรี

นามเดิมว่า ลา พันธุ์โสภาคย์ เกิดที่หมู่บ้านบางกะปิ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.2404

อุปสมบทที่ วัดโพธิ์ศรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี ในสมัยที่ “พระอาจารย์คิ้ม” เป็นเจ้าอาวาส ได้รับฉายา “ปุณณชิ” ใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน

จากนั้นเริ่มออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมถกรรมฐาน และเมื่อพบพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมแก่กล้าจึงฝากตัวเข้าเป็นศิษย์เล่าเรียนไสยเวท

เมื่อวัดโพธิ์ศรีว่างเว้นเจ้าอาวาส ชาวบ้านจึงอาราธนาท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาท่านได้เป็นสหายธรรมกับ”พระอริยมุนี (เผื่อน)” วัดราชบพิธฯ จึงลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมพระอริยมุนี ถวายตัวกับ สมเด็จพระมหา สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร และในปี พ.ศ.2439 จึงได้อุปสมบทใน “ธรรมยุติกนิกาย” ที่วัดราชบพิธฯ กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นกลับมาจำพรรษาที่วัดโบสถ์ อ.อินทร์บุรี

ต่อมาในปี พ.ศ.2442 ชาวบ้านวัดโพธิ์ศรีได้มาขอหลวงพ่อลากับพระครูสิงหบุราจารย์ (อินทร์) เพื่อตั้งคณะธรรมยุตขึ้นที่วัดโพธิ์ศรี วัดโพธิ์ศรีจึงเปลี่ยนจากวัดมหานิกายเป็น วัดธรรมยุติกนิกายนับแต่นั้นมา ประจวบกับ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีว่างลง หลวงพ่อลาจึงได้รับนิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี เป็นครั้งที่ 2 ดูแลปกครองและพัฒนาวัดโพธิ์ศรีจนเจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักขจรไกล เป็นที่เคารพรักของพุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา

สมณศักดิ์สุดท้ายเป็น “พระครูวินิตศีลคุณ” มรณภาพในปี พ.ศ.2486 สิริอายุ 82 ปี

หลวงพ่อลา เป็นผู้ที่ยึดมั่นในสมถกรรมฐานและมีพลังจิตที่แก่กล้า ได้รับความไว้วางใจจากชาวสิงห์บุรีให้เป็นพระคณาจารย์ร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษก “เหรียญกริ่งรูปเหมือน แหวนมงคลเกล้า” ในพิธีสมเด็จ พระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธฯ เมื่อปี พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นพิธี ที่ยิ่งใหญ่มากในยุคนั้น มีพระเกจิคณาจารย์ ชื่อดังจากทั่วประเทศร่วมปลุกเสกถึง 108 รูป

หลวงพ่อลาสร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิด เช่น เหรียญ ตะกรุดโทน ผ้ายันต์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมี “เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2468” ซึ่งเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกและรุ่นเดียว ที่นับเป็นหนึ่งในเหรียญยอดนิยมของจังหวัด ปัจจุบันหาดูเช่าของแท้ยากยิ่งนัก

เหรียญปั๊มรูปเหมือนปี 2468 สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการสร้างโรงเรียนประชาบาล “ลาวิทยาคาร” มีจำนวนเพียง 1,000 เหรียญเท่านั้น

ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมา หูในตัว เนื้อทองแดงกะไหล่ทองเพียงเนื้อเดียว พิมพ์ด้านหน้า ยกขอบ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปจำลองพระปางนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี พุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานในวิหารวัดโพธิ์ศรี เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูงของชาวสิงห์บุรี พิมพ์ด้านหลัง ยกขอบเส้นลวดด้านใน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อลานั่งสมาธิเต็มองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอมพระคาถา 9 ตัว ว่า “กะ สะ ทะ กะ พะ สะ สะ ทะ กะ” ด้านล่างจารึกอักษรไทยว่า “พระอธิการลา วัดโพธิ์ศรี พ.ศ.๒๔๖๘”

ด้วยความที่เหรียญนี้มีการทำเทียมมาแต่อดีตจนปัจจุบัน และการจัดสร้างค่อนข้างน้อย จึงต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ หรืออาศัย ผู้ชำนาญการที่เชื่อถือได้จะได้ไม่ผิดหวังครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน