“ราม วัชรประดิษฐ์”

พระปางลีลา ถือเป็นศิลปกรรมยุคทองของสุโขทัย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับกลุ่มเมืองที่เผยแผ่อิทธิพลถึงกันแล้ว นับได้ว่ามีความงามยิ่งกว่าพระแถบกำแพง เพชร พิจิตร พิษณุโลก หรือสุพรรณบุรีเสียอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ “พระลีลากำแพงศอกสุโขทัย” ที่ไปฝากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น และที่สุโขทัยเองก็มีพระลีลาน่าสนใจอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ “พระลีลา วัดถ้ำหีบ”

พระลีลา วัดถ้ำหีบ เป็นพระกรุเก่าแก่ของจังหวัดสุโขทัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามมาก ลายเส้นมีความอ่อนไหว ชัดเจน และกลมกลืนกันอย่างหาที่ติไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะสกุลช่างสุโขทัยบริสุทธิ์โดยแท้ แต่ถึงแม้จะมีถิ่นกำเนิดที่สุโขทัย แต่ก็หาได้ยากยิ่งและไม่ค่อยแพร่หลายในสุโขทัยนัก สันนิษฐานว่า หลังจากการขุดค้นพบน่าจะนำออกมากระจายนอกเขตจังหวัดและในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ ด้านของพุทธคุณนั้นเป็นเลิศทั้งโภคทรัพย์และเมตตามหานิยมเป็นที่ปรากฏ ทำให้ได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สนนราคาเช่าหาค่อนข้างสูงมาก

พระลีลา วัดถ้ำหีบ มีการค้นพบภายในถ้ำบริเวณวัดร้างบนเขากิ่วอ้ายมา จ.สุโขทัย ซึ่งเดิมชื่อ “วัดถ้ำหีบ” วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่ไม่ได้รับการบูรณะจนเหลือเพียงซากปรักหักพัง ไม่หลงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองในอดีตเลย ชาวบ้านขึ้นเขาไปเพื่อหามูลค้างคาว พอเข้าถ้ำพบไหเคลือบหลายใบ เมื่อเปิดออกดูจึงพบ “พระปางลีลา” ลักษณะเป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก รูปทรงยาวรียอดแหลม ขนาดเขื่อง สูงประมาณ 8.5 ซ.ม. ฐานกว้างประมาณ 2.5 ซ.ม. รูปกรอบดูมีสองชั้น

ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดินเผาทั้งหยาบและละเอียด บางองค์มีการล่องชาดและปิดทองมาแต่ในกรุ เนื้อพระออกผิวเหลืองนวล ดูเหมือนพระใหม่หรือหม้อใหม่ แสดงว่าองค์พระไม่เคยสัมผัสอากาศภายนอกเลย เนื้อมีความแกร่ง โดยเฉพาะสีแดงจะแกร่งมากกว่าสีเหลือง เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน และจากที่เป็นพระที่อยู่ในกรุเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จึงปรากฏคราบนวลดินบางๆ เกาะติดอยู่บนผิวขององค์พระเช่นเดียวกับพระเนื้อดินทั่วไปอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ

ดังนั้น นอกจากจะพิจารณาพุทธลักษณะขององค์พระแล้ว ต้องสังเกตที่ “คราบของนวลดิน” บนองค์พระ อันถือได้ว่าเป็น “จุดตาย” ภายในไหยังพบพระเนื้อชินและเนื้อว่านที่มีพุทธลักษณะเหมือนกัน แต่มีจำนวนน้อยมาก “พระลีลา วัดถ้ำหีบ” ยังมีการค้นพบที่กรุวัดเจดีย์งามและวัดเขาพระบาทน้อย อีกด้วย

พุทธลักษณะองค์พระประทับยืน แสดงปางห้ามพระไม้แก่นจันทน์ เหนือฐานหมอนชั้นเดียว พระบาทข้างซ้ายทรงอยู่ ส่วนข้างขวายกขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะการลีลาก้าวย่าง พระกรข้างขวาทอดลงตามลำพระองค์ พระกรข้างซ้ายยกขึ้นเหนือพระอุระและผายฝ่าพระหัตถ์ออก เห็นรอยชายสบงและชายจีวรด้านล่าง โดยเฉพาะชายจีวรที่ซ้อนทบกันอย่างมีมิติ พระเกศเฉียงไปด้านซ้ายขององค์พระ หากใช้กล้องส่องดูจะเห็นฐานพระเมาลีเหนือพระนลาฏ (หน้าผาก) มีเส้นขีดเป็นไรพระศก พระพักตร์เป็นหน้านางศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ พระเนตรเป็นเนตรเนื้อลักษณะรี ที่ลำพระศอมีรอยนูนคล้ายสร้อยพระศอค่อนข้างชัดเจน น้ำหนักเส้นสายต่างๆ แลดูอ่อนไหว นับเป็นพระปางลีลาที่มีความงดงามมาก

ส่วนด้านหลัง เป็นหลังเรียบ จะเห็นลายผ้าดิบจากการกดพิมพ์ด้วยมือ ซึ่งเป็นรอยสูงต่ำไม่เรียบเสมอกันคล้ายๆ ลายมือ จึงมักเรียกกันว่า “หลังลายมือ” สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์ข้างเม็ด

สำหรับของทำเทียมเลียนแบบนั้นทำกันมาเนิ่นนานแล้ว ยิ่งพระเนื้อแกร่งยิ่งทำได้ใกล้เคียงมาก ถ้าไปเห็นเนื้อพระสีเขียวเมื่อไหร่ให้ระวังไว้ด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วของปลอม เนื้อจะขรุขระไม่เรียบ มักมีเม็ดโปนขึ้นมาเหมือนตัวหมัด และของปลอมจะหดตัวทั้งเนื้อและเส้นสายจะเล็กกว่าของจริง

จุดสังเกตสำคัญ คือบนพื้นที่ช่องว่างของเรียวพระบาทหรือหว่างขาด้านล่างนั้น จะมีเส้นตรงปรากฏอยู่ชัดเจน เดิมทีคงเป็นเส้นชายจีวรแต่ติดเฉพาะเส้นเรียวบาง ซึ่งมักถอดพิมพ์ไม่ติดครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน