ราม วัชรประดิษฐ์

www.arjanram.com

เมื่อกล่าวถึงวัดระฆังโฆสิตาราม ทุกคนจะต้องนึกถึงพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องอันเลื่องลือ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเก่าที่มีค่านิยมสูงลิ่วจนแทบแตะไม่ถึง ความจริงแล้วยังมีการสืบทอดการสร้างพระเครื่องของวัดระฆังฯ ในรุ่นต่อๆ มาอีกมากมาย

โดยเฉพาะพระรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงและพุทธคุณเป็นที่ปรากฏ เช่น พระพุทธบาทปิลันทน์ ของ หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์(ทัด) และ พระวัดระฆังหลังค้อน ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ซึ่งเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหากันอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไปเช่นกัน แต่ถ้ากล่าวถึงสนนราคาที่ยังพอจับต้องได้ต้องยกให้ “พระวัดระฆังหลังค้อน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึก ในสมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุล “อิศรางกูร” เกิดที่จังหวัดนครนายก เมื่อปีพ.ศ.2400 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว

จนอายุได้ 7 ขวบ บิดาจึงนำไปถวายเป็นศิษย์หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ศึกษาร่ำเรียนพระปริยัติธรรมกับพระอาจารย์ที่วัดระฆังโฆสิตารามหลายๆ รูป รวมถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศนเทพวราราม

จนปีพ.ศ.2413 จึงบรรพชาที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่ออายุครบอุปสมบทล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็น “นาคหลวง” และอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้รับฉายา “ญาณฉันโท” ร่ำเรียนด้านปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญ 5 ประโยค ในปีพ.ศ.2425

จากนั้นได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เรื่อยมาจนประมาณปีพ.ศ.2460 ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 8 ของวัดระฆังฯ

ปีพ.ศ.2464-2465 ได้เป็นพระราชาคณะที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” ท่านเจ้าประคุณมรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2470 สิริอายุ 70 ปี พรรษา 50

สร้าง “พระวัดระฆังหลังค้อน” ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เพื่อแจกแก่ลูกศิษย์ลูกหาไว้สักการบูชา โดยมีการจัดสร้างด้วยกัน 2 ครั้ง

ครั้งแรกระหว่างปีพ.ศ.2453-2457 ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระพิมลธรรม” ลักษณะเป็นพระเครื่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1.3 ซ.ม. สูงประมาณ 2 ซ.ม. หล่อด้วยโลหะผสมแก่ทองเหลือง โดยได้ส่งแผ่นทองเหลืองไปถวายพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณหลายสำนักเพื่อให้จารอักขระเลขยันต์แล้วส่งคืนกลับมา ผสมรวมกับชนวนรูปหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตร และชนวนรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ

จากนั้นอาราธนาพระเถรานุเถระผู้ทรงวิทยาคุณยุคนั้นเข้าร่วมปลุกเสกอีกครั้งก่อนที่จะหล่อหลอมเทเป็นองค์พระ ด้วยวิธี “การหล่อแบบโบราณ”

พิมพ์ด้านหน้าองค์พระประธานประทับนั่งแสดงปางสมาธิ เหนืออาสนะฐานเขียง รองด้วยฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มครอบแก้ว พื้นในซุ้มด้านหลังองค์พระเป็นปรกโพธิ์ ลักษณะเป็นเม็ดกลมรายรอบเหนือพระเศียร

ส่วนพิมพ์ด้านหลังเป็นหลังเรียบ บางองค์อาจมีรอยค้อนกระแทกยุบลงไปบ้าง จากการใช้ค้อนกระแทกให้องค์พระแยกออกจากกัน อันเป็นที่มาของชื่อ “หลังค้อน” บางองค์ก็ไม่มี จะมีแต่เพียงรอยตะไบแต่งเท่านั้น ประการสำคัญคือองค์พระจะมีรอยตัดด้านบนและด้านล่าง หรือที่เซียนพระทั้งหลายเรียกว่า “ตัดหัวตัดท้าย” ด้านข้างทั้งสองด้านส่วนใหญ่จะไม่มีร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ สามารถแบ่งพิมพ์ออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ล่ำ และพิมพ์ชะลูด

ครั้งที่สอง อยู่ในราวปีพ.ศ.2458-2470 สร้างเพื่อแจกจ่ายแก่ทหาร ตำรวจ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงสงคราม โดยใช้พิมพ์ทรงเดียวกันแต่กรรมวิธีการหล่อแตกต่างไปจากเดิม คือเป็นการ “หล่อโบราณแบบเข้าช่อ” ตัดก้านชนวน เมื่อตัดเอาองค์พระออกจากช่อชนวนแล้วนำพระไปตกแต่งขอบหรือส่วนที่เป็นเนื้อเกินออกไปให้เรียบร้อย ดังนั้น องค์พระจะมีร่องรอยการตกแต่งขอบทุกด้าน นอกจากนี้ ความหนาขององค์พระส่วนใหญ่จะหนาน้อยกว่าที่สร้างครั้งแรก

การจัดสร้างทั้งสองครั้งนี้จะมีลักษณะแม่พิมพ์เหมือนกัน ถ้าจะพิจารณาว่าเป็นการสร้างครั้งใดต้องดูที่กระแสเนื้อของโลหะ การหล่อครั้งแรกกระแสเนื้อจะออกสีเหลืองคล้ายทองดอกบวบ หรือไม่ก็เหลืองอมเขียว

ส่วนในการหล่อครั้งที่ 2 กระแสเนื้อจะออกสีเหลืองอ่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน