ใครที่อ่านบทความ “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง” ของ 23 ทูตานุทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เปรียบเทียบกับ “ข่าวสารนิเทศ” จากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย

เหมือนกับอยู่กันคนละ “โลก”

ที่ผ่านมา กรมสารนิเทศ ก็ดี กระทรวงการต่างประเทศ มักแถลงว่า ข้อมูลและความเห็นจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโดยบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นสื่อ

ที่เข้าใจเช่นนี้เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง

แต่กับบทความ “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง” ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เหตุผลแบบเดิมๆ อีกแล้ว

เพราะว่าทูตานุทูตจาก 23 ประเทศนี้มิได้เป็นคนแปลกหน้า ตรงกันข้าม ท่านเหล่านี้ล้วนประจำอยู่ในประเทศไทย รับรู้สถานการณ์ทุกอย่างพอๆ กับที่คนไทยได้รับรู้อย่างครบถ้วน

ตรงนี้แหละทำให้ “บทความ” ทรงความหมายเป็นอย่างสูง

ข้อน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากก็คือบทความ “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างไร” มีการแปลและเผยแพร่ออกมาเป็น “ภาษาไทย”

นี่ย่อมดำเนินตามรอยเดียวกันกับสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

คงจำเหตุการณ์การพบและหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้

ครั้งนั้น กรมสารนิเทศระบุผู้แถลงข่าวจากกรุงวอชิงตันว่าเป็น “เสมียนเวรข่าว” ประจำวัน

แต่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย แถลงยืนยันว่าเป็น “โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ” และแถลงอย่างเป็นทางการ ไม่เพียงแต่ยืนยันเป็นภาษาอังกฤษ หากแต่ได้มีเจ้าหน้าที่ออกมาแปลเป็นภาษาไทยทันทีทันความด้วย

ตรงนี้ “สะท้อน” อะไร

เมื่ออ่าน “ข่าวสารนิเทศ” ของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปรียบเทียบกับบทความ “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง”

ทุกคนก็จะ “เข้าใจ” ในความจำเป็นต้องทำเช่นนี้

ไม่เพียงเพราะต้องการเห็นกระบวนการ “ประชามติ” เป็นไปในแบบสากล คือ ให้ทุกความเห็นได้แสดงตัวเองออกมาอย่างอิสระและเสรี เหมือนกับที่นานาชาติได้ทำมาแล้ว

หากที่สำคัญความเห็นต่อ “ประชามติ” ในแบบสากลยังไม่ตรงกันอีกด้วย

เพราะว่าบรรดาทูตานุทูตอันมาจากซีกโลกตะวันตกเป็นอย่างหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศของไทยเห็นอีกอย่างหนึ่ง

จึงจำเป็นต้องนำเอา 2 เอกสารมาอ่านและเปรียบเทียบ

จากที่นานาอารยประเทศนำเสนอ “บทความ” เรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อ “ประชามติ” ประเทศไทย

ฉายสะท้อนให้เห็น 1 กระบวนการประชามติของประเทศไทยมีปัญหา ขณะเดียวกัน 1 ที่หวังจะให้กระทรวงการต่างประเทศไทยเสนอต่อรัฐบาลและคสช.เพื่อแก้ไขให้เป็น “ประชาธิปไตย” ยากอย่างยิ่ง

ยากอย่างที่กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน