ช่องว่าง ต่างวัย สารจาก นายกรัฐมนตรี กับ คนรุ่นใหม่

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ช่องว่าง ต่างวัย สารจาก นายกรัฐมนตรี กับ คนรุ่นใหม่แรกที่ปรากฏ “ปฏิกิริยา” ความไม่พอใจจากจุดอ่อนและความบกพร่องของกกต.ต่อการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม เสียงปรามไม่ว่าจะมาจากคสช. ไม่ว่าจะมาจากผบ.เหล่าทัพ

เน้นอย่างหนักแน่นและจริงจังไปยัง “คนหน้าเดิม”

คนหน้าเดิมที่เคยเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คนหน้าเดิมที่เคยเรียกตนเองว่า “คนอยากเลือกตั้ง”

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปการมองต่อ “คนหน้าเดิม” ก็เริ่มเปลี่ยน

หากหยิบเอา “สารจากนายกรัฐมนตรี” มาอ่าน ขณะเดียวกัน หากรับฟังถ้อยคำแถลงยาวเหยียดจากผบ.ทบ.ก็จะเข้าใจจาก “รายละเอียด”

สารจากนายกรัฐมนตรีเน้นอย่างหนักแน่นโดยเรียกร้องไปยัง “ผู้ปกครอง” ขณะเดียวกัน ก็เตือนไปยัง “ครูบา อาจารย์”

แถลงผบ.ทบ.เน้นตรงไปยัง “นิสิต นักศึกษา”

เพียงเห็นเช่นนี้ก็รู้แล้วว่า กรอบและขอบเขตการสื่อมิได้พุ่งไปยังบุคคลประเภท “จ่านิว” หรือบุคคลประเภท “เอกชัย” หรือ “ทนายอานนท์” อีกแล้ว

ตรงกันข้าม พุ่งไปยัง นิสิต นักศึกษา

สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 24 มีนาคม มีมาจากบรรดา “นิวโหวตเตอร์” ที่มีส่วนกับการเลือกตั้งโดยตรง

แม้ว่าแถลงของผบ.ทบ.จะยอมรับว่า มีปัญหาตั้งแต่การยังไม่เข้าใจอย่างเพียงพอต่อโซเชี่ยลมีเดีย กระทั่งปัญหาการสื่อสารที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับ

แม้จะตระหนักว่าโซเชี่ยลเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง

แต่หากศึกษาแต่ละถ้อยความภายใน “สารจากนายกรัฐมนตรี” และแต่ละถ้อยคำอันซึมแทรกอยู่ภายในแถลงยาวเหยียดจากผบ.ทบ.

ก็จะสัมผัสได้ในบทสรุปและความเข้าใจที่แตกต่างกัน

ปัญหาที่ดำรงอยู่ระหว่าง 2 ฝ่ายรับรู้ผ่านภาษา ขณะเดียวกัน ภาษาที่ใช้ออกก็สะท้อนความคิดอันแผกต่างในลักษณะที่มี “ช่องว่าง” ถ่างออกอย่างเด่นชัด

หากถือเอาพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ หากยึดเอาชัยชนะที่พรรคอนาคตใหม่ได้มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม

ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้สะท้อนออกอย่างเด่นชัด

เด่นชัดในช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่เช่นนายกรัฐมนตรี เช่น ผบ.ทบ.กับเด็กรุ่นใหม่ที่เรียกขานผ่านคำว่านิสิตและนักศึกษา และรวมไปถึงพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่

นี่คือบทสรุปและมุมมองอันสะท้อนจุดต่างระหว่าง “วัย” ของคนต่างรุ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน