สภาวะ ขาลง อำนาจ ในมือ “คสช.” เจรจา ต่อรอง

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ทั้งๆ ที่คสช.มีอำนาจอยู่ในมือ เห็นได้จากที่รุกไล่พรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะโดยการใช้ “อภินิหาร” เสกเป่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ไม่ว่าจะโดยการจำกัดกรอบ ขอบเขต การเคลื่อนไหวในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มิให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่น

แล้วเหตุใดจึงเกิด “ปฏิกิริยา” แข็งขืน

ไม่เพียงแต่จะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หากระยะหลังเริ่มมีการต่อรองอย่างเข้มข้นจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

คําตอบมีอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ อำนาจที่อยู่ในมือของคสช. มิได้เป็นอำนาจเดียวกันกับที่เคยยึดกุมในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความหมายก็คือ อำนาจเริ่มแปรเปลี่ยน

เป็นการแปรเปลี่ยนอย่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สรุปรวบยอดว่าดำเนินไปในลักษณะ “ขาลง” ในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเห็นว่าเป็น “ขาลง” การท้าทายต่ออำนาจย่อมตามมา

หากไม่เห็นว่าคสช. “ขาลง” มีหรือที่พรรคประชาธิปัตย์จะขอกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ มีหรือที่พรรคภูมิใจไทยจะขอกระทรวงคมนาคม

พื้นที่แรกของการประลองกำลังทางการเมือง คือพื้นที่การชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร สัมผัสได้ในการยื้อระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

มีการปล่อยชื่อ นายชวน หลีกภัย ตามมาด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เป็นการปล่อยออกมาทั้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐวางตัว นายสุชาติ ตันเจริญ ตั้งแต่ต้น สะท้อนให้เห็นว่านี่คือจังหวะก้าวในการต่อรอง

เป็นการต่อรองข้ามไปยังตำแหน่งใน “รัฐบาล”

ตราบจนเย็นวันที่ 24 พฤษภาคม ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่แถลงอย่างเป็นทางการว่าจะส่งใครเข้าชิงตำแหน่งประธานสภา

ทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มมาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคพลังประชารัฐได้เพียง 115 น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ 136

เมื่อจำนวนน้อยอำนาจการต่อรองก็ย่อมน้อย

จำนวนน้อยในที่นี้วางอยู่บนพื้นฐานการได้เปรียบจากอำนาจรัฐ หรือแม้กระทั่งเงินที่ระดมเข้ามาได้เป็นจำนวนมหาศาล

สภาวะขาลงจึงปรากฏและนับวันแต่จะเป็นไปตามบทเพลง “สาละวัน”

  • วิเคราะห์การเมือง : การเมือง เหลือเชื่อ กระทบ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นไปได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน