ปม ทางเศรษฐกิจ กับ ปมทาง รัฐธรรมนูญ คนละเรื่อง เดียวกัน

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ปม ทางเศรษฐกิจ กับ ปมทาง รัฐธรรมนูญ คนละเรื่อง เดียวกัน มีความพยายามอย่างเต็มกำลังจากฝ่ายรัฐบาลที่จะชูประเด็น “เศรษฐกิจ” ให้มีความสำคัญและอยู่ในวาระทางสังคมมากกว่าประเด็น “การเมือง”

เป้าหมายก็เพื่อกดกระแส “รัฐธรรมนูญ”

เป้าหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

ไม่ใช่เรื่อง “รัฐธรรมนูญ” ที่เลื่อนลอยและเปลืองเวลา

แต่พลันที่แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ก็ประกาศจะเสนอญัตติด่วนอันนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของรัฐบาลก็เริ่มรวนเร

ข้อที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ ยิ่งรัฐบาล ชูปัญหาเศรษฐกิจให้สูงเด่นขึ้นเพียงใด สถานะของรัฐบาลก็เป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าจะสร้างคะแนนนิยม

ถามว่าความล้มเหลวทางเศรษฐกิจมีความเป็นมาอย่างไร

คำตอบก็เห็นกันอย่างเด่นชัดว่า ทั้งหมดคือผลงานและความล้มเหลวอันเนื่องมาจากรัฐบาลเก่าที่รับผิดชอบบ้านเมืองมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557

เป็นรัฐบาลคสช. เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นฝีมือของทีมเศรษฐกิจในความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แท้ๆ ไม่มีคนอื่นมาเจือปนเลยแม้แต่น้อย

ถามว่ารัฐมนตรีที่ยึดกระทรวงสำคัญๆ อย่าง นายอุตตม สาวนายน อย่าง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อย่าง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นอย่างไร

1 ล้วนเคยอยู่ในรัฐบาลเก่า

1 ล้วนอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรองหัวหน้า นาย สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

มีเสียงเตือนก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมมาแล้วว่า หากคนเหล่านี้ยังรับผิดชอบงานเศรษฐกิจของประเทศก็แทบไม่มีความหวังอะไร เพราะมีแต่สิ้นหวัง

ความหดหู่เศร้าหมองจากความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงเดือนกันยายน 2562

ล้วนเป็นคำตอบในทาง “รูปธรรม”

จึงแทนที่ชาวบ้านจะรู้สึกหงุดหงิดในทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม ก็เริ่มเห็นแล้วว่าการคงอยู่ในอำนาจของครม.ชุดเก่านั่นเองคือต้นเหตุแห่งปัญหา

ในที่สุดก็เริ่มคิดถึง “การเมือง” เริ่มคิดถึง “รัฐธรรมนูญ”

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน