ข้อมูล ข่าวสาร ท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโลกยุคดิจิตอล

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ข้อมูล ข่าวสาร ท่าน ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโลกยุคดิจิตอล – ไม่มีอะไรจะสามารถเป็น “ตัวอย่าง” ของผลสะเทือนจากการแพร่ระบาดของ “กูเกิ้ล” ได้ทัดเทียมกับคำบรรยายถึงความล้ำเลิศของกูเกิ้ลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยเฉพาะเมื่อการออกมาปฏิเสธ

คำถาม 1 ที่ตามมาอย่างฉับพลันก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธการพูดของตนเองหรือว่าปฏิเสธอย่างอื่น

อย่างอื่นในที่นี้คือรูปธรรมแห่ง “ผลสะเทือน”

คำถาม 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างสูงก็คือ ตกลงอะไรคือความจริง เป็นการพูดเมื่ออยู่มหานครนิวยอร์ก หรือเป็นการพูดเมื่ออยู่ที่สถานีท่าพระ กรุงเทพมหานคร

ความจริงก็คือ ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนที่ชมชอบและสันทัดในการใช้ “กูเกิ้ล” ให้เป็นประโยชน์

การพูดที่สมาคมเอเชียจึงเป็นการพูดบนฐานแห่งความเชื่อ

นอกเหนือจากเชื่อในความล้ำเลิศของกูเกิ้ลแล้ว ยังรู้ด้วยว่าเมื่อพูดออกไปคำพูดจะไม่ได้จำกัดเพียงในสมาคมเอเชียแห่งนิวยอร์ก หากแต่จะต้องแพร่ออกไปทันที

เพียงไม่กี่วินาทีคนที่อยู่ในเมืองไทยก็ได้ยิน ได้ฟัง

คำปฏิเสธที่สถานีท่าพระของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าคำพูดที่สมาคมเอเชียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

ปมประเด็นอันแหลมคมยิ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าคำพูดที่สมาคมเอเชีย มหานครนิวยอร์ก ถูกบิดเบือนไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการพูด

คำว่า “บิดเบือน” นี่แหละที่สำคัญ

เพราะว่าบทสรุปที่ว่า “บิดเบือน” นั้นสะท้อนการประเมินจากความเห็น จากปฏิกิริยาอันเป็นความต่อเนื่องในทางความคิดต่อจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

นั่นก็คือ เป็นความเห็นที่ไม่สอดรับกับความต้องการ ของผู้พูด

ยิ่งเมื่อมีการนำเอารายละเอียดอย่างชนิดคำต่อคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดที่มหานครนิวยอร์กมาตรวจสอบก็จะยิ่งประจักษ์ในความเป็นจริงถ่องถ้วน

ความต่างอย่างสำคัญระหว่างยุค “อนาล็อก” กับยุค “ดิจิตอล” ก็คือ ลักษณะและพลานุภาพแห่งการแพร่กระจายของข้อมูล

ยุคอนาล็อกมีลักษณะจำกัด

ตรงกันข้าม ยุคดิจิตอลมีลักษณะแพร่กระจายและดำรงคงอยู่อย่างสถาพรไม่เพียงในสื่อแต่ละสื่อ หากแต่ยังดำรง อยู่ใน “คลาวด์” อย่างยาวนาน

ทำอะไร พูดอะไรก็สามารถ “ตรวจสอบ” ได้ทันที ทันควัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน