อิเหนา เมาหมัด ปะทะ เข้ากับ “รัฐอิสระ” การเมืองปี 2563

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง – หากอ่านการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อันมาจากการประมวลและสรุปของนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล

ก็พอจะ “อ่าน” การเมืองได้

อ่านได้ไม่เพียงแต่เบื้องคำว่า “รัฐเชียงกง” อันมิได้ตกทอดมาจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 เท่านั้น หากสาวยาวไปยังรัฐประหารเมื่อปี 2549

เช่นเดียวกับฉายา “อิเหนาเมาหมัด”

เหมือนกับจะเป็นอาการอันสัมผัสได้เมื่อได้รับเสียงขานชื่อเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 จาก 500 ส.ส. ผนวกเข้ากับ ส.ว.ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนี้เป็นความต่อเนื่องยิ่งกว่า “เพชรพระอุมา”

คําถามที่เสนอเข้ามาก็คือ เมื่อทุกอย่างอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยมของ “อิเหนาเมาหมัด” เช่นนี้ อนาคตของ “รัฐเชียงกง” จะเป็นเช่นใด

เพราะรัฐนี้ประกอบด้วย “เทามนัส”

คอการเมืองที่เคยร่วมต่อสู้กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยร่วมต่อสู้กับมวลมหาประชาชนแห่ง กปปส.สามารถประสานเสียงตอบได้อย่างไม่ลังเล

ขอให้ติดตามบทบาท “รัฐอิสระ”

มีแต่ “รัฐอิสระ” อย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีแต่ “รัฐอิสระ” อย่างขุนพลจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่จะเป็นดัชนีชี้ให้เห็นแต่ละก้าวย่างของการเมือง

มีความจำเป็นต้องย้อนไปยังบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ 2 บทบาท 1 บทบาทในห้วงก่อนการเลือกตั้ง 1 บทบาทในห้วงหลังการเลือกตั้ง

ก็จะเห็นได้ในอาการแห่ง # อยู่เป็น

ก่อนการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ ไม่เอาคสช. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องอำลา

กระนั้น การมาของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ไม่ธรรมดา

เป็นการมาพร้อมกับ “เงื่อนไข” ในแบบของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไข ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม “รัฐธรรมนูญ”

หากมองจากรัฐธรรมนูญ 2560 หากมองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

แต่ขอให้ติดตามบทบาทของ “รัฐอิสระ”

แต่ขอให้ติดตามบทบาทของ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคปวงชนไทย

เพราะบทบาทเหล่านี้จะแปรเป็น “ฝ่ายรุก” ใน ปี 2563

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน