สถานะ การเมือง

“อนาคตใหม่” ใน “สังคม”

พรรคของ มวลชน

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

“อนาคตใหม่” คําประกาศจากตัวแทนศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ที่จะฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นรายบุคคล

เป็นคำประกาศสำคัญ

หากมองจาก ส.ว.อย่าง นายสมชาย แสวงการ หากมองจาก ส.ว.อย่าง นายเสรี สุวรรณภานนท์

ย่อมหงุดหงิด ย่อมไม่เข้าใจ

เห็นว่าเป็นการก่อกวน ไม่ยอมรับการตรวจสอบ

อย่าได้แปลกใจไปเลย เพราะไม่ว่า นายสมชาย แสวงการ เพราะไม่ว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ ล้วนเดินทางลัดในทางการเมือง จัดอยู่ในไฟลัม “ลากตั้ง”

คําประกาศจากตัวแทนศูนย์ประสานงานพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นคำประกาศที่ดับเครื่องชนต่อกระบวนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยตรง

เพราะว่าแต่ละ “ศูนย์” สัมพันธ์อยู่กับ “สมาชิกพรรค”

พวกเขารู้ดีว่า กระบวนการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นอย่างไร ส่งเสริมหรือว่าเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการแห่งประชาธิปไตย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสร้างพรรค

พวกเขาจึงสรุปได้ไม่ยากว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มิได้หนุนเสริมการสร้างพรรคการเมืองในทางเป็นจริง หากเสมอเป็นเพียง “ตำรวจ” คอยจับผิดมากกว่า

การฟ้องร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในลักษณะที่สมาชิกพรรคอนาคตใหม่จะกระทำ จึงเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่สร้างความหงุดหงิด ขัดหูขัดตา

ทั้งๆ ที่นี่คือ การแสดงตนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของพรรค

สมาชิกพรรคการเมือง โดยเฉพาะสมาชิกพรรคที่ทำงานอยู่ในศูนย์ประสานงานของพรรคจึงมิได้เป็นการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “ลูกจ้าง”

ตรงกันข้าม พวกเขาเป็นเจ้าของพรรค มีความลึกซึ้งของพรรค

บนฐานแห่งความรู้สึกเช่นนี้เมื่อมองเห็นอย่างเป็นระบบว่ามีองค์กรบางองค์กรคอยจับผิดและกระทำต่อพรรคอย่างไม่ถูกต้องเขาก็ย่อมมีสิทธิจะแสดงความรู้สึกออกมา

ความจริง การแสดงออกของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ผ่านศูนย์ประสานงานพรรคในขอบเขตทั่วประเทศอย่างที่เป็นข่าวน่าจะเป็นเรื่องน่ายินดี

แทนที่จะหงุดหงิด แทนที่จะไม่พอใจ

เพราะนี่สะท้อนให้เห็นว่าการเติบใหญ่ การดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการเติบใหญ่บนฐานของสมาชิก บนฐานของมวลชนอย่างแท้จริง

นี่คือ “พรรคมวลชน” ในอุดมคติทางการเมือง โดยแท้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน