เบื้องหน้า โควิด

ปราบปราม หรือ ต่อสู้

จึงจะกุม ชัยชนะ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เบื้องหน้า โควิด ปราบปราม หรือ ต่อสู้ จึงจะกุม ชัยชนะมีการปะทะระหว่าง 2 ความคิดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

1 คือ ความคิดในการปราบปรามโควิด-19 ให้สิ้นซาก 1 คือ ความคิดในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างรู้เท่าทัน จำกัดกรอบและขอบเขตการดำรงอยู่

เป็นการปะทะระหว่าง “ปราบปราม” กับ “ต่อสู้”

คล้ายๆ กับการปะทะระหว่างแนวทางปราบปราม “คอมมิวนิสต์” ให้สิ้นซาก กับ แนวทาง “ต่อสู้” เพื่อเอาชนะ “คอมมิวนิสต์” ในกาลอดีต

บทเรียน “การเมือง” นำ “การทหาร” จึงสำคัญ

ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเคยผ่านการต่อกรกับ “คอมมิวนิสต์”มาอย่างยาวนาน

ยาวนานตั้งแต่มีการออกพ.ร.บ.คอมมิวนิสต์เมื่อปี 2476 เป้าหมายก็เพื่อจัดการกับ หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) อย่างเป็นด้านหลัก

เป็นผลจาก “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หลังเดือนมิถุนายน 2475

ยาวนานตั้งแต่มีการรื้อฟื้นและปรับเป็นพ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์มาอีกในปี 2495 หวังจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก

คำถามก็คือ สามารถปราบปรามได้ตามเป้าประสงค์หรือไม่

การไม่สามารถปราบปราม “คอมมิวนิสต์” อย่างสิ้นซากนั่นแหละนำไปสู่การปะทะทางความคิด

เกิดความคิดสาย “เหยี่ยว” เกิดความคิดสาย “พิราบ” เกิดความคิด “การทหารนำการเมือง” เกิดความคิด “การเมือง” มาตัดค้าน

นำไปสู่คำถามว่า “การปราบปราม” ได้ผลหรือไม่

นำไปสู่การเสนอหลักคิดว่า ควรเป็น “การต่อสู้” ในทางความคิด เพื่อนำไปสู่การเอาชนะในทางการทหาร การเอาชนะในทางการเมือง

รูปธรรมก็คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

จากการปราบปราม “คอมมิวนิสต์” มาสู่การปราบปราม “ไวรัสโควิด-19”

ผ่านมาเกือบ 3 เดือนเริ่มเกิดคำถามว่าจะสามารถปราบปรามไวรัสโควิด-19 ให้สิ้นซากได้อย่างฉับพลันทันใดตามเป้าหมายได้จริงละหรือ

หรือว่าจำเป็นต้อง “ต่อสู้” เพื่อ “เอาชนะ” จะดีกว่า เหมาะสมกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน