อารมณ์ สังคม ต่อ สถานการณ์ ฉุกเฉิน กับ การยืดเวลา

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อารมณ์ สังคม ต่อ สถานการณ์ ฉุกเฉินมองผ่านสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”จากเดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม

การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม มีความคึกคักอย่างยิ่ง

คึกคักทั้งรัฐบาล คึกคักทั้งประชาชน

แม้การประกาศและบังคับใช้จะอยู่ภายใต้หลักการ “สุขภาพเหนือเสรีภาพ” สังคมก็พร้อมเสียสละเสรีภาพส่วนตัวให้กับการบริหารจัดการในเรื่องโควิด-19

แต่เมื่อมาถึงเดือนพฤษภาคม กลับตรงกันข้าม

ลักษณะตรงกันข้ามกับเมื่อเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นความไม่เห็นด้วย

ที่ไม่เห็นด้วยนั้นเพราะมีความรู้สึกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กระทั่ง มีการคลายล็อกมาตรการ “เข้ม” เป็นลำดับ

ขณะเดียวกัน ก็รับรู้ผลสะเทือนของสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

เป็นผลสะเทือนอันตกผลึกว่า การดำเนินมาตรการ “เข้ม” ของรัฐบาล ปิดเมือง ปิดงาน มิได้กระทำอย่างเตรียมพร้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” จึงสะเทือนทาง “เศรษฐกิจ”

ผลสะเทือนในทาง “เศรษฐกิจ” ต่างหากที่ทำให้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” อาจเป็นปัญหา

ภาพของประชาชนเรือนพันที่เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง ภาพของประชาชนเรือนพันที่รอคอยการแจกข้าวของและเงินทองจากผู้ใจบุญ

เป็นภาพเหลือเชื่อและไม่ควรให้เกิดขึ้น

แม้จะมีการคลายล็อกจากมาตรการ “เข้ม” แต่เชื่อได้เลยว่าอีกนานกว่าทุกอย่างจะราบรื่น ยิ่งยังมีการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ยิ่งเป็นอุปสรรค

ความรู้สึกต่อสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” จึงกลายเป็นความหงุดหงิด

สถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคมกับในเดือนพฤษภาคมจึงไม่เหมือนกัน

เป็นความไม่เหมือนกันเพราะว่าการแพร่ระบาดของไวรัสเริ่มคลี่คลาย เป็นความไม่เหมือนกันเพราะคนรู้สึกว่าสถานการณ์ “ฉุกเฉิน” ทำให้ยากลำบากในทาง “เศรษฐกิจ”

จากสภาพ “เศรษฐกิจ” ก็จะแปรเป็นประเด็นทาง “การเมือง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน