คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง : ผลงาน การเมือง จาก #ส.ว.มีไว้ทำไม ประเด็น “สังคม”

ผลงาน การเมือง จาก #ส.ว.มีไว้ทำไม ประเด็น “สังคม” : คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง – ถามว่าปฏิบัติการ #ส.ว.มีไว้ทำไม ประสบความสำเร็จหรือไม่
หากประเมินผ่านสื่อกระแส “หลัก” ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ต้องยอมรับว่าประสบความล้มเหลว
ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับการเหลียวแล
แต่ถ้าหากติดตามผ่านสื่อออนไลน์อันถือได้ว่าเป็นสื่อกระแส “รอง” กระบวนการ #ส.ว.มีไว้ทำไม คึกคักอย่างยิ่ง มีการขานรับอย่างกว้างขวาง

ไม่เพียงแต่ในนักเรียน นิสิต นักศึกษา หากกระจายถึง “ประชาชน”

ถามต่อไปว่าอะไรคือเครื่องวัดว่า #ส.ว.มีไว้ทำไม ประสบความสำเร็จ
คำตอบมิได้อยู่ที่ว่า ภาคีอันเป็นเครือข่ายของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ว่าเหนือ ใต้ ตก ออกต่างประสานขานรับกันด้วยความคึกคัก
หากแต่อยู่ที่ “แนวโน้ม” ในทางสังคม การเมือง
พลันที่มีการปล่อยข้อมูลอันเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ 250 ส.ว.ออกมา ไม่ว่าในเรื่องการประชุม ไม่ว่าในเรื่องของการลงมติ
เนื้อหาข่าวเหล่านี้สามารถยึดครอง “พื้นที่” ได้อย่างคึกคัก

น่าสังเกตว่าข่าวอันเกี่ยวกับ 250 ส.ว.เริ่มอยู่ในความสนใจของ “สังคม”
ความสนใจในที่นี้ก็คือ การตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของ 250 ส.ว.คู่ขนานกันไปกับการนำเอาผลงานของ 250 ส.ว.มาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
สายตาที่ทอดมองไปยัง 250 ส.ว.เริ่มคลางแคลง
เพราะในความเป็นจริงบทบาทของ 250 ส.ว.ที่โดดเด่นคือ การขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562
หลังจากนั้นก็รับเงินเดือนโดยไม่ต้องลงแรงอะไร

กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อ 250 ส.ว.คือความสำเร็จ
เป็นการสำเร็จจากการตั้งคำถามของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ว่า #ส.ว.มีไว้ทำไม เป็นความสำเร็จจากปฏิบัติการ #MobFromHome
พลันที่ประชาชนขานรับและให้ความสนใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน