วันที่ 21 พ.ค. ที่ข้างเกาะขาม อ่าวเทพา อ.เทพาจ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือสัญลักษณ์ของกรีนพีซ เดินทางมาถึงตือโละปาตานี (อ่าวเทพา) เพื่อเข้าร่วมกับเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 100 ลำ จากชุมชนสะกอม เทพา และสวนกง ในจ.สงขลา โดยเรือประมงพื้นบ้านจัดวางภาพวาดบนผืนผ้าขนาด 30 x 30 เมตร ในทะเลบริเวณใกล้เกาะขาม เป็นภาพตัวละครในหนังตะลุงพร้อมข้อความ “ควน ป่า นา เล ควรหวงแหน” (หมายถึง “ปกป้องภูเขา ป่าไม้ ทุ่งนาและทะเล”) เพื่อแสดงเจตนารมย์คัดค้านถ่านหิน(no coal) และเทใจให้ทะเล(Heart for Sea)

นายรุ่งเรือง ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อ่านคำประกาศเจตนารมย์ “อะโบ๊ยหมะ เทใจให้ทะเล”บนเรือเรนโบว์ ความว่า ท่ามกลางการพัฒนาที่ล้างผลาญ ทะเลคือส่วนหนึ่งของการถูกกระทำให้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว การมาถึงของเรือเรนโบว์วอริเออร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งของคนในพื้นที่สงขลา-ปัตตานีในวันนี้

วันนี้ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่แห่งนี้ มีสำนึกในการปกป้องทะเลอย่างเต็มเปี่ยม พวกเราร่วมกันทำปะการังเทียมเพื่อเพิ่มพื้นที่ฟูมฟักสัตว์น้ำวัยอ่อน ใช้อวนตาใหญ่ขึ้น เพื่อจับแต่สัตว์น้ำที่โตเต็มวัย พยายามส่งเสียงให้จำกัดหรือหยุดการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง รวมทั้งยังพยายามเก็บขยะจากทะเลที่มาเกยริมชายหาด เพื่อไม่ให้ลงไปในทะเลอีก พวกเราพยายามทำการตลาดและขนส่งปลาปูกุ้งหอยหมึกกั้งสดๆจากทะเลไปสู่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องใส่สารเคมีใดๆ ความพยายามเหล่านี้กำลังเติบโต ทะเลกำลังฟื้นตัว ทะเลคือธนาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ต้องมีใครเลี้ยง ไม่ต้องให้อาหาร ต้อนรับทุกคนที่มีแรงมาลงเรือทำการประมงโดยไม่ต้องมีวุฒิ ขอเพียงแต่ให้มีสำนึกของการอนุรักษ์ ปลาปูกุ้งหอยหมึกกั้ง สัตว์ทะเลอื่นๆกำลังค่อยๆเพิ่มจำนวน ทะเลจึงกลายเป็นความหวังไม่เฉพาะของชุมชนชาวประมง แต่รวมถึงของคนทั้งโลก และนี่คือทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

แต่ในท่ามกลางสถานการณ์การฟื้นตัวของทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ไปจนถึงปลายแหลมตาชี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กลับมีความเสี่ยงที่ทะเลแถบนี้จะถูกคุกคามอย่างรุนแรง นั่นคือการคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำร้ายไม่เฉพาะทะเล แต่จะทำลายชุมชน ทำลายผืนดินสายน้ำ และอากาศด้วย

ด้าน น.ส.สุกัญญา หัดขะเจ เครือข่ายเทใจให้เทพาหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา และโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา คือสองโครงการหายนะที่รัฐบาลพยายามผลักดัน หากสำเร็จลง เมื่อรวมกับโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงไฟฟ้าจะนะที่เดินเครื่องไปก่อนแล้ว การตามมาของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย หายนะจะคืบคลานมาสู่พื้นแผ่นดิน สายน้ำ และทะเลอย่างยากที่กู้กลับคืนมา การรวมตัวของพี่น้องประมงพื้นบ้านในพื้นที่จะนะ เทพา และปัตตานีในวันนี้ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน สื่อมวลชน นักพัฒนาเอกชน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่หวังเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในวันนี้ เป็นการยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องการสานพลังความเป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น และร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร ฐานชีวิตของผู้คนให้พ้นจากหายนะจากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สุขสงบและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

เราทั้งหลายขอประกาศว่า “เราจะร่วมกันปกป้องทะเลอันอุดม อากาศที่บริสุทธิ์ แผ่นดินที่สมบูรณ์ และวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่สุขสงบแห่งนี้ ให้ปลอดภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และโครงการขนาดใหญ่ใดๆที่ชุมชนไม่ต้องการเราจะสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน สังคมที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมที่ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง มีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง เพื่ออนาคตของเราเอง ของลูกหลาน ของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงของโลกที่ต้องการความยั่งยืนด้วย

นายดอเลาะ อาแว ตัวแทนชุมชนตันหยงเปาว์ เครือข่ายตือโละปาตานี กล่าวว่า พวกเราผูกพันกับทะเลและผืนดินที่นี่ ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินหน้าต่อไป เราอาจสูญเสียทุกอย่าง ทั้งบ้าน วิถีชีวิต และวัฒนธรรม การถูกบังคับให้ย้ายออกจากแผ่นดินเกิดที่ได้มาจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ย้ายถิ่นฐานเท่านั้น แต่เป็นการทำลายเอกลักษณ์ของชุมชน”

ขณะที่ นส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลาช้ากว่ากำหนดเดิมไปสามปี โดยสถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมขยายตัว เพิ่มมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 2558 ชุมชนที่คัดค้านโครงการถูกกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ป้องกันกว่า 1,500 นาย ไม่กี่วันหลังจากนั้น มีการประกาศว่าขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้เสร็จสมบูรณ์และริเริ่มกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต่อจากนั้น บริษัทที่ปรึกษาของโครงการซึ่งว่าจ้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะรวบรวมรายงาน EHIA และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา

ในเดือนสิงหาคม 2560 เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน นั่งประท้วงหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร หลังจากที่รายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการอนุมัติ 3 เดือนหลังจากนั้น เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทำการเดิน “เทใจให้เทพา” เป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ยกเลิกโครงการ ท้ายที่สุด ผู้ร่วมเดิน “เทใจให้เทพา” ถูกจับกุม 16 คน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชุมชนจากพื้นที่ตือโละปาตานี และกระบี่ในนามเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandam of Understading) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน สั่งยกเลิกรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ และตกลงที่จะให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ โดยจะต้องจัดทำด้วยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน และหากการศึกษาชี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่เหมาะสม กฟผ. ต้องยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

แต่การดำเนินการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์( the strategic environmental assessment) ได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอีกครั้งเนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานลงนามแต่งตั้งคณะศึกษา SEA ใหม่โดยมีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นผู้สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น การพิจารณาให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้จึงกลับมาอีกครั้ง

กิจกรรมในวันนี้ยังรวมถึงการนำเสนอรายงานซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือข่ายตือโละปาตานี ชื่อว่า “ตือโละปาตานี วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน: การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชนกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ซึ่งใช้วิธีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ที่มาจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลในชุมชนถึงสิทธิ และความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และช่วยประกอบการตัดสินใจในชุมชน

“กรีนพีซร่วมยืนหยัดกับชุมชนในการส่งเสียงของชุมชนที่เป็นห่วงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน สิทธิและเสียงของชุมชนไม่ควรถูกละเลย การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมุ่งไปที่ชุมชน ความต้องการของชุมชนและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา จะสร้างอยู่บนพื้นที่กว่า 2 พันไร่ ครอบคลุมที่อยู่อาศัยของประชากร มัสยิด โรงเรียนปอเนาะ กุโบร์ และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งบนบกและในทะเล ในรายงาน EHIA ระบุว่า โดยจะมีครัวเรือนที่ถูกโยกย้ายทั้งหมดจำนวน 152 ครัวเรือน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน