ชาวบ้าน ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชน ชี้ที่ผ่านมาถูกรัฐ และทุนกดขี่อย่างหนัก จี้เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง

พ.ร.บ.สิทธิชุมชน / เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีเวทีเสวนา “กฎหมายสิทธิชุมชนกับสิทธิคนชายขอบ” มี นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการกสม. เป็นประประธาน มีชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ที่เป็นกรณีศึกษาเรื่องถูกละเมิดสิทธิชุมชนราว 70 คน และผู้ที่เกี่ยวข้อง

อาทิ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและประธานคณะทำงานแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

พล.อ.สุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อศึกษาลึกๆแล้วกฎหมายให้สิทธิชุมชนมาตั้งแต่ดั้งเดิม แต่กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อเราเกิดเป็นรัฐประเทศ เราถือเอาว่าตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปที่บอกว่ามีประเทศสยาม นี่คือคำตอบจากฤษฎีกา และเราได้มีพ.ร.บ.ออกโฉนดให้ราษฎรไปแจ้งการครอบครองที่ดินฉบับแรกปี 2479

ต่อมา 2497 จึงออกเป็นประมวลกฎหมายเพิ่มเติม ที่ถามว่าคนที่อยู่ก่อน 2479 เขาเสียสิทธิมั้ย ผมคิดว่าเขามีสิทธิ ต่อมา 2497 ไม่ได้แจ้งอีก แต่เขายังมีสิทธิเหนือกฎกระทรวงและกฤษฏีกาทั้งปวง ตรงนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทำให้ไม่เป็นที่รับรู้ อย่าว่าแต่พวกเราเลย

ชาวบ้านร่วมสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรม

แม้แต่นักกฎหมายและศาลจะทราบข้อเท็จจริงนี้สักกี่คน หน่วยงานต่างๆรู้หรือไม่ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดรู้หรือไม่ ทั้งๆที่เป็นสิทธิของประชาชน อยากบอกให้ข้าราชการได้รับรู้

กฎหมายที่ดินคือออกกระดาษให้ผู้มีสิทธิในที่ดิน ในเมื่อท่านอยู่มาก่อน เขาก็ยกกระดาษให้ตามสิทธิที่มี แต่กฎหมายป่าไม้นั้นมีไว้เพื่อทำไม้ กฎหมายออกมาเป็นรูโหว่ เช่น ที่เทือกเขาบูโด ชาวบ้านเขามีสิทธิที่ดินเพราะอยู่มาก่อน บางคนมีโฉนดด้วยซ้ำ แต่ป่าไม้ไม่ได้กันพื้นที่เขาออก เช่นเดียวกับชาวเลที่อยู่มานานนับร้อยๆปี

คนพื้นเมืองภูเก็ตคือซาไกกับชาวเล แต่วันนี้ทั้งคู่ไม่มีที่ดินอยู่แล้ว เพราะเราไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือใช้อย่างชอบธรรม ที่บ้านโต๊ะบาหลิว บนเกาะลันตา จ.กระบี่ ชาวบ้านอยู่กันมาเป็นร้อยปี แต่ถูกสั่งให้รื้อ ผมบอกได้เลยว่ารัฐบาล คสช.ถูกราชการหลอกใช้อยู่ บอกว่าสามารถทวงคืนผืนป่าได้นับแสนไร่ จริงๆแล้วเป็นที่ดินเก่าแก่ของชาวบ้านที่ไม่ได้กันออกจากป่าสงวนหรืออุทยานฯพล.อ.สุรินทร์ กล่าว

นางทัศนา นาเวศ ผู้แทนชุมชนทับยาง จ.พังงา กล่าวว่าชุมชนทับยางอาศัยอยู่ในสัมปทานเหมืองแร่ที่หมดอายุแ ละกลายเป็นชุมชนใหญ่ต่อมาปี 2534-2537 เอกชนอ้างสิทธิในที่ดินรัฐเหล่านี้ซึ่งตอนนั้นมีชาวบ้าน 50 ครอบครัวจับจองอยู่แล้ว และเอกชนได้ฟ้องชาวบ้านและชาวบ้านแพ้คดี

ชาวเล

แต่ชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนต่อสู้พร้อมทั้งปรึกษาทนายความในพื้นที่ แต่ถูกกระบวนการของรัฐร่วมกับเอกชนหลอกชาวบ้าน จนชาวบ้านต้องยอมเซ็นสัญญาเช่าที่จากนายทุน แต่หลังเกิดภัยพิบัติสึนามิปี 2547 เหมือนกับมาเปิดประเด็นที่ดินในภาคใต้ให้กับชาวบ้านซึ่งถูกคุกคามโดยเฉพาะที่ตะกั่วป่า

ตอนแรกชาวบ้านแพ้คดีหมด เราได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆและเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ แต่ยังถูกกีดกันจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ จนกระทั่งยื่นเรื่องต่อกสม. ที่เป็นเอกสารฉบับแรกให้เป็นแรงบันดาลใจให้เราพิสูจน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชุมชน

โดย กสม.ออกรายงานว่าการออกเอกสารสิทธิของเอกชนไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันประวัติต่างๆที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟัง จนกระทั่งมีการตั้งเรื่องให้กบร.จังหวัดพิจารณา แต่เขายืนยันว่าออกเอกสารสิทธิถูกต้องจนกรมที่ดินก็บอกให้เรายุติการร้องเรียน

จนสุดท้ายเรายื่นเรื่อถึงพล.อ.สุรินทร์ ทำการตรวจสอบซึ่งทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะเราถูกปกปิดและบิดเบือนข้อมูลต่าง แต่ในที่สุดกบร.ชาติ มีมติตามอนุกรรมการฯ ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินรัฐ แต่กรมที่ดินยังคัดค้านความเห็นของกบร.ชาติ

จนกระทั่งพีมูฟช่วยเคลื่อนไหว และให้ชาวบ้านฟ้องร้องต่อศาลปกครองเอาที่ดินคืนรัฐ จนศาลปกครองพิพากษาว่าให้คืนที่ดินบางส่วนต่อรัฐ แต่เราพบหลักฐานใหม่ว่าที่ดิน 170 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณะมีการออกหนังสือสำคัญยืนยัน

พื้นที่แหลมตง

“ล่าสุดมีการเจรจาให้ชาวบ้านรับเงินเพื่อออกโฉนดให้กับเอกชน เราได้ร้องเรียนเรื่องนี้ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านพยายามลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินรัฐ แต่นายทุน หน่วยงานของรัฐ และผู้นำท้องถิ่นกับพยายามให้ชาวบ้านเซ็นรับรองเพื่ออกโฉนดให้กับเอกชน เรารู้สึกเหนื่อย เพราะมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน” นางทัศนา กล่าว

ขณะที่ ผู้แทนชาวเลจากเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า พวกตนอยู่บนเกาะพีพีมานานนับร้อยปี โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริพระราชทานที่ดินแหลมตง ให้เป็นที่อยู่ของชาวเล ต่อมาปี 2528 นายทุนมาทำสัญญาเช่ากับชาวเลปีละ 1 หมื่นบาท เราสูญเสียที่ดินตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมีมีกลุ่มทุนจากบริษัทต่างๆมาทำประโยชน์ ทำให้ชาวเลต้องเสียประโยชน์หลายเรื่อง ตอนนี้รายได้ก็ลด กรมเจ้าท่าก็มาให้ชาวบ้านขึ้นทะเบียนเรือ ขณะที่สุสานฝังศพที่เคยมีพื้นที่กว้างขวาง แต่ตอนนี้เหลืออยู่เพียงกว่า 1 ไร่ เพราะถูกถมสร้างเป็นทางเดิน เช่นเดียวกับโรงเรียนที่เคยมีที่ดินอยู่กว่า 6 ไร่ตอนนี้ก็เหลืออยู่ 4 ไร่เพราะถูกเบียด ท้ายสุดตอนนี้ที่ดินชุมชนกลายเป็นที่ดินของเอกชน

ด้าน นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ กล่าวว่า ปัญหาภาพรวมของการละเมิดสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงนั้น เพราะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบราชการหรือราชการเข้าถึง กลายเป็นปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราถูกจับดำเนินคดี ถูกอพยพโยกย้ายและทำให้กลายเป็นคนอื่นไม่ใช่พลเมืองในประเทศไทย มีการบังคับใช้กฎหมายที่ทำลายวิถีชีวิต

เช่น ชาวบ้านที่บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่โยกย้ายชาวบ้านลงมา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดชี้ว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ขู่จะฟ้องกลับชาวบ้านอีก หรือกรณีชาวบ้านทุ่งป่าคา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งหน่วยงานรัฐเข้าไปจับกุมชาวบ้านที่กลายเป็นแพะ การปฏิบัติทางกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ถูกจับและดำเนินคดีแค่บางคนบางแปลง กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในกะเหรี่ยง 5 จังหวัด พบว่ากว่า 1460 ชุมชน มีปัญหาที่ดินถูกประกาศทับ

ปู่คออี้ ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเผาบ้าน

ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายไม่ครบถ้วน ชุมชนทั้งหมดจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ พอชาวบ้านแนะนำให้กันพื้นที่ชาวบ้านออกก่อนประกาศเขตอุทยานฯ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอม และมีอีกหลายพื้นที่ที่มีการสัมปทานเหมือง ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่บริษัทสัมปทานได้คุกคามชาวบ้านไม่ให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง“นายสรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นายประทีป มีคติธรรม คณะทำงานในอนุกรรมการของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน กล่าวว่า กระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยบริษัทขุดคลองและคูนาสยามได้สัมปทานขุดคลองรังสิต แต่ที่ดินของชาวนาต้องกลายเป็นของบริษัท

ชาวบ้านลุกขึ้นสู้ ราวพ.ศ.2495 จึงมีการเตรียมออกกฎหมายสิทธิชุมชน แต่มีอันต้องตกไป จนพ.ศ.2510-2517 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามา เริ่มเกิดขบวนการสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ จนได้พ.ร.บ.ปฎิรูปที่ดินเกษตรกรรม และจากนั้นเข้าสู่กระบวนการป่าชุมชน

จนปี 2540 สิทธิชุมชนถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์และจัดการพื้นที่อย่างเป็นธรรม จนถึงปัจจุบันกระบวนการพัฒนายาวนาน แต่เป็นสิทธิหน้าหมู่ ไม่ได้เรียกว่าสิทธิชุมชน ซึ่งตั้งแต่ปี 2540 พยายามหยิบยกพ.ร.บ.นี้กันมาหลายรอบแต่ก็ไม่ผ่าน เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทำให้ฝ่ายต่างที่รวมกันผลักดันรู้สึกถอดใจ

นายประทีป กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชน ถูกหยิบยกขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นกฎหมายอาถรรพ์ เพราะเพิ่มอำนาจให้ประชาชนและลดทอนอำนาจหน่วยงานรัฐ ทำให้ยากต่อการเสนอ อย่างไรก็ตามในแผนปฎิรูปกฎหมาย เขียนไว้ว่าต้องทำกฏหมายฉบับนี้ให้เสร็จภายใน 3 ปี แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ

จนกระทั่งคณะกรรมพิจารณากฎหมายเร่งด่วน ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน

นายประทีป กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายกลาง โดยคาดหวังว่าจะเกิดการปฎิรูปกฎหมายเฉพาะด้านตามมา เช่น พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยตามร่างพ.ร.บ.ประชาชนในชุมชน ต้องมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งถึงจะมายื่นขอใช้สิทธิได้

ยื่นหนังสือถึง กสม.

โดยมีองค์ประกอบอย่างน้อย 1.เป็นกลุ่มคน 2.มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน 3.มีการบริหารจัดการภายใน เช่น มีผู้มีอำนาจกระทำการแทน มีคณะกรรมการหรือกลไกลอื่นๆ มีกฎระเบียบ ข้อตกลงภายใน

“แต่เราได้ตั้งคำถามกันว่า แล้วอย่างสมาชิกในเฟซบุ๊กถือว่าเป็นชุมชนหรือไม่ หรือชุมชนจ.ส.100 ที่โทรไปคุยกันเรื่องจราจร เป็นชุมชนหรือไม่ แต่สาระสำคัญคือสิทธิชุมชนไม่ได้หยุดนิ่งและมีพลวัตรไปเรื่อยๆดังนั้นการร่างกฎหมายต้องไม่แคบและปิดกั้น”นายประทีป กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา ชาวเลเกาะพีพี และชาวบ้านทับยาง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางเตือนใจ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน