“บิ๊กอู๋” นำลูกจ้างกองทุนเงินทดแทนพบ “นายกรัฐมนตรี”

“บิ๊กอู๋” นำลูกจ้างกองทุนเงินทดแทนพบ “นายกรัฐมนตรี” – รมว.แรงงาน นำตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน เข้าพบนายกรัฐมนตรี ก่อนการประชุม ครม. เผย พ.ร.บ.เงินทดแทนฉบับใหม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และนายจ้างได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นำคณะตัวแทนลูกจ้างกลุ่มใหม่ที่ได้รับการคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอนิทรรศการ เรื่อง การบังคับใช้พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี

สำหรับพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่) ที่ได้มีการปรับปรุงค่ารักษา และขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ลูกจ้างได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น และนายจ้างได้รับความเป็นธรรม โดยพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 นี้

มีสาระสำคัญในการขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ขยายความคุ้มครอง ให้ครอบคลุม ไปถึงลูกจ้างซึ่งทำงานในองค์กรของนายจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการออกกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับขอบเขตการคุ้มครองลูกจ้างซึ่งได้รับการจ้างงานในประเทศ (Local staff) ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศ เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ภัยพิบัติ” เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับความหมายหรือลักษณะของภัยพิบัติ ลดการจ่ายเงินเพิ่ม ตามกฎหมายในท้องที่ประสบภัยพิบัติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มอัตราการจ่าย ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ ดังนี้ เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี (เดิมไม่เกิน 15 ปี) เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้าง ถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกำหนด 10 ปี (เดิมกำหนด 8 ปี)

อีกทั้งกำหนด การจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ให้ได้รับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ (เดิมจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกิน 3 วัน) เพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้าง ตามอัตราที่กำหนด ในกฎกระทรวง (เดิมจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน)

ในส่วนของนายจ้างก็จะได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนนี้เช่นกัน กล่าวคือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน (ฉบับใหม่นี้) ได้มีการปรับลดเงินเพิ่มตามกฎหมายจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือน ลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่ม กรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ โดยกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย (เดิมไม่ได้กำหนดเพดานเงินเพิ่มไว้) เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 นี้ จะส่งผลให้ลูกจ้างมีหลักประกันของชีวิตดีขึ้น รวมถึงค่าทดแทนการขาดรายได้ และระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในกรณีไม่สามารถทำงานได้ มีความจำเป็นต้องหยุดงาน และในส่วนของนายจ้างเองก็จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราเงินเพิ่ม ส่งผลให้สถานภาพด้านการเงินของนายจ้าง มีความมั่นคง เสริมสร้างสังคมประเทศชาติให้มีเสถียรภาพเป็นปึกแผ่น มีความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน