แพทย์เตือน ระวังโรคที่มากับอากาศร้อน อย่าดื่มน้ำหวาน-เกลือแร่มาก

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการดื่มน้ำหวาน-เกลือแร่ ในช่วงอากาศร้อนจัด ว่า สิ่งที่ต้องระวัง คือ โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก ซึ่งเกิดจากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้เป็นปกติได้ โดยอุณหภูมิในร่างกายจะเกิน 40 องศาเซลเซียส มีอาการหน้าซีด ตัวเย็น จะเป็นลม ทั้งนี้ ระดับน้ำในร่างกายจะเป็นตัวช่วยปรับอุณหภูมิร่างกายออกมาเป็นเหงื่อ ซึ่งอากาศร้อนจัดๆ เช่นนี้ แนะนำว่า ควรดื่มน้ำเปล่ามากกว่า 2 ลิตรขึ้นไป

นพ.มานัส โพธาภรณ์

ส่วนการดื่มน้ำหวาน หากดื่มเล็กน้อยอาจช่วยให้รู้สึกดี เพราะตามปกติการกินของหวานจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่หากดื่มมากเกินไปจะทำให้ได้รับน้ำตาลมาก อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเกิดอันตรายได้ในผู้ป่วยเบาหวานและมีโรคประจำตัว และเกิดการปัสสาวะมากขึ้น จนสูญเสียน้ำเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นพ.มานัส กล่าวอีกว่า สำหรับเกลือแร่เป็นเครื่องดื่มที่ทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไป ถ้าหากเสียเหงื่อเยอะมาก การดื่มเกลือแร่จะช่วยชดเชยให้กลับมาอยู่ระดับปกติ แต่จะมีคำแนะนำอยู่ว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 ขวด ซึ่งหากดื่มมากเกินไปจะเกิดผลเสียได้ และบางยี่ห้อก็มีน้ำตาลผสมด้วย ทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคไต โรคเบาหวาน

นพ.มานัส กล่าวอีกว่า ยืนยันว่า การดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด และควรอยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการออกที่แจ้ง หรือหากต้องออกที่แจ้งก็ไม่ควรอยู่นาน และมีการป้องกัน เช่น หมวก ร่ม หรือทาครีมกันแดด และเมื่อเสร็จแล้วก็ควรรีบกลับเข้าที่ร่ม สำหรับคนที่จะออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรออกช่วงเช้าหรือตอนเย็นที่แดดร่มลมตกแล้ว ไม่ควรออกช่วงแดดจัด โดยเฉพาะช่วง 11.00-15.00 น. แต่หากช่วงเวลานอกเหนือจากนี้ยังมีแดดจ้าอยู่ก็ไม่ควรออก

“อีกเรื่องหนึ่งคือการรับแสงแดดและรังสียูวีมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผิวไหม้จากแสงแดด รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณยูวีที่ได้รับและระยะเวลาความนานในการรับด้วย รวมถึงอาจเกิดความอับชื้นจากเหงื่อ ทำให้เกิดปัญหาผดผื่นคันได้ ควรมีการทาครีมป้องกันแดด และสวมเสื้อผ้าที่ระบายลมอากาศได้ดี” นพ.มานัส กล่าว

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นนอกจากโรคฮีทสโตรกที่จะต้องเฝ้าระวัง คือ ผดผื่นคัน เชื้อราในร่มผ้า และกากเกลื้อน ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายเกิดการอับชื้น ดังนั้นเมื่อกลับถึงบ้านแล้วควรอาบน้ำ เช็ดตัวให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังนั้น ยังไม่มีปัจจัยที่ชี้ชัดว่าความร้อนทำให้เกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากการจะเป็นมะเร็งได้ตัวการสำคัญมาจากระยะเวลา เช่น ต้องมีการสัมผัสแดดนานเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป รวมถึงสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าจะมีความสามารถในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายได้มากน้อยเพียงใด

“จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังพบว่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จากที่พบผู้ป่วย 100 ราย ก็พบเพิ่มเป็น 110 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เพราะการที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ร่วมกับมีการตรวจคัดกรองที่ทำให้พบโรคได้เร็วขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้คนไทยยังเป็นกลุ่มคนผิวสีจึงมีกระบวนการจัดการกับรังสียูวีได้ดีกว่าคนผิวขาว” พญ.มิ่งขวัญ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน