พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องปั้นดินเผา สมัยกรุงศรีอยุธยา ในวัดกลางนครโคราช

วันที่ 24 ก.ค. นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โบราณคดี ดำเนินการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนครโคราช ถ.จอมพล เขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยกำหนดพื้นที่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถกลางน้ำ

จากการขุดหลุมที่ 1 ระดับความลึกจากพื้นดินประมาณ 60 เซนติเมตร พบแจกกันดินเผา ที่ผลิตจากเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ส่วนหลุมที่ 2 ระดับความลึก 130 ซ.ม. พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ส่วนสูง 159 ซ.ม. และเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการโบราณคดีและกั้นแนวเขตเป็นพื้นที่หวงห้าม ท่ามกลางประชาชนได้ทยอยมามุงดู ส่วนหนึ่งได้พิจารณาตามความเชื่อและพยายามดราม่าเป็นเลขเด็ด

นายจารึก ผอ.สน.ศิลปากรที่ 10 กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจราชการที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.2472 เพื่อทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถาน ซึ่งกำลังชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงไปเรื่อยๆ ที่ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย และวัดพระนารายณ์ฯ

นายจารึก กล่าวต่อว่า จากการเปิด 2 หลุม พบทับหลังนารายณ์บรรทมศิลป์ และวัตถุโบราณในบริเวณพระอุโบสถกลางน้ำ และมีส่วนหนึ่งถูกนำมาตั้งประดิษฐานในสถานพระนารายณ์หลักเมือง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงเคลื่อนย้ายส่วนที่อยู่ใต้ดินนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จ.นครราชสีมา

ต่อมานายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา สนับสนุนงบ 5 แสนบาท ดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดีสถานพระนารายณ์ ซึ่งเป็นการค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ได้พบโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานมีอายุประมาณ 2 พันปี และวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้บริเวณใกล้วิหารใหญ่ พบชิ้นส่วนหินทรายของปราสาทหินพิมายจำนวนมากและฐานประติมากรรม รูปเคารพ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการขุดค้นหาอีกรวมทั้งสิ้น 4 หลุม อย่างไรก็ตามการไขปริศนาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน