สคอ. จี้ขนส่งฯ แยกใบขับขี่บิ๊กไบก์ จัดฝึกอบรมก่อนลงถนน ชี้รถเร็ว-แรง ตายเพิ่มทุกปี

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายลดอุบัติเหตุ(สคอ.) กล่าวถึงการลดอุบัติเหตุรถบิ๊กไบก์ หลังเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตหลายราย โดยเฉพาะกรณีนายภัทร์นฤณ พงษ์ธนานิกร หรือ โน้ต ลูกชายดีเจระย้า ที่เกิดอุบัติเหตุจนคอขาด ว่า ที่ผ่านมาการขับขี่รถจักรยานยนต์น มักจะเป็นการลองผิดลองถูกหรือสอนขับขี่กันเอง พอเริ่มเป็นแล้วไปสอบเอาใบขับขี่มา บางคนจึงไม่ได้ชำนาญการขับมาก ซึ่งบิ๊กไบก์จะมาลองขับกันเองไม่ได้ แต่จะต้องมีการควบคุม เรื่องทักษะในการขับขี่และภาวะทางอารมณ์คนขับขี่ ไม่ควรเป็นยานพาหนะสำหรับบุคคลทั่วไป ควรเป็นบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ผ่านการฝึกฝนมาดี หลักสูตรต้องถึงขั้นชำนาญหรือเชี่ยวชาญถึงเอามาใช้ได้

“การจะมาลองผิดลองถูกจนชำนาญไม่ได้ เพราะอันตรายเกินไป ทั้งตัวคนขับขี่และบุคคลอื่นที่อาจบาดเจ็บและเสียชีวิตตามไปด้วย เพราะรถบิ๊กไบก์มีความแรง ความเร็ว และหนัก คือ เครื่องยนต์แรง ซีซีสูง มีตั้งแต่ 400-1,200 ซีซี ทำความเร็ว 160-180 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้สบาย อย่างกรณีคุณโน้ต รุ่นของรถบิ๊กไบก์หนักถึง 208 กิโลกรัม พอแต่งเสร็จก็ประมาณ 250 กิโลกรัม บวกน้ำหนักคนขับอีกก็ประมาณ 300 กิโลกรัม การขับด้วยความเร็วมากกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จึงมีแรงจีมหาศาล ไปกระแทกกับอะไรก็พัง นอกจากรถแล้วอวัยวะภายในร่างกายก็ไม่รอดสักอย่าง ถ้าเป็นลำตัวก็มีสิทธิขาดเป็นสองท่อนได้ เพราะความแรงขนาดนี้”

นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า ปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อก 2,510 คน แต่หากดูตามจำนวนซีซีนั้น จะพบว่า รถ 150 ซีซีขึ้นไป ในปี 2557 เสียชีวิต 396 ราย ปี 2558 เสียชีวิต 525 ราย และปี 2559 เสียชีวิต 826 ราย ขณะที่เครื่องยนต์เกิน 250 ซีซีขึ้นไป ซึ่งเป็นทั้งรถสปอร์ตและรถบิ๊กไบค์รวมกันนั้น พบว่า ปี 2557 เสียชีวิต 145 ราย ปี 2558 เสียชีวิต 197 ราย และปี 2559 เสียชีวิต 285 ราย

“ตัวเลขที่เกิดจากบิ๊กไบก์จริงๆ ยังไม่แน่ชัด อยู่ระหว่างการแยกให้เห็นชัดเจน และเร่งสรุปข้อมูล แต่จากสถิติดังกล่าวก็ถือว่ามากพอสมควรที่จะออกมาตรการควบคุม โดย สคอ.ทำข้อเสนอไปเป็นปีแล้ว อยากให้มีการควบคุมเรื่องซีซี อายุ น้ำหนัก และความยาวช่วงขาในการขับบิ๊กไบก์ แต่กรมขนส่งทางบกยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง

“จากกรณีที่เกิดขึ้น รมว.คมนาคม สั่งการให้กรมขนส่งทางบกเร่งแก้ปัญหา แต่กรมขนส่งฯ กลับขอเวลาอีก 6 เดือนในการออกมาตรการ จึงอยากตั้งคำถามอธิบดีว่า จากนี้ไปอีก 6 เดือน คิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากดูจากตัวเลขการเสียชีวิตเช่นนี้ ดังนั้น สิ่งที่กรมขนส่งฯ ควรทำ คือ ออกประกาศแบ่งประเภทใบขับขี่เป็น 3 ประเภท คือ ใบขับขี่ทั่วไปหรือรถแบบแฟมิลี ที่มีความแรงต่ำกว่า 150 ซีซี ใบขับขี่รถสปอร์ต ที่มีความแรง 150-399 ซีซี และใบขับขี่รถบิ๊กไบค์ที่มีความแรงเกิน 400 ซีซีขึ้นไป”

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า การออกประกาศแบ่งประเภทใบขับขี่เช่นนี้ จะสามารถกำหนดคุณสมบัติได้เลยว่า ผู้ที่จะรับใบขับขี่แต่ละประเภทควรเป็นเช่นไร เช่น ต้องผ่านการอบรม หลักสูตรระยะเวลาเท่าไร เป็นต้น จากนั้นค่อยขยายมาตรการอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น จะขับรถบิ๊กไบก์ควรผ่านการขับรถแฟมิลีหรือสปอร์ตมาก่อนอย่างน้อย 10 ปี อายุและวุฒิภาวะในการขับก็น่าจะพอได้ ซึ่งทุกวันนี้คนครอบครองรถเป็นเด็กอายุ 18-19 ปี อย่างรถบิ๊กไบก์ควรจะต้องเข้าไปในสนามฝึก ฝึกการใช้เบรก ฝึกการใช้ความเร็ว การทรงตัว เอียงโค้ง ผ่านเกณฑ์ก่อน จนช่ำชองชำนาญ จึงออกมาขับได้ แล้วไปสอบก็ต้องสอบกับรถบิ๊กไบก์จริงๆ ไม่ใช่รถเล็กทั่วไป

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสามารถเข้าถึงรถบิ๊กไบก์ได้ง่ายมาก เพราะกระแสกำลังมา และราคาก็เอื้อกับการซื้อ บางทีแทบไม่ต้องดาวน์เลยด้วยซ่อม หรือผ่อนยาวดาวน์น้อยก็มี การมีใบขับขี่เฉพาะก่อนจะซื้อมาขับก็อาจช่วยได้ แต่กรณีที่พ่อแม่ไปซื้อให้ลูกขับนั้น ต้องใช้กฎหมายฉบับอื่น เช่น ละเลยต่อการให้คนอื่นมาใช้รถตัวเองขับ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก หรือละเลยการดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้รับอันตราย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้ากรมขนส่งฯ คิดและลงมือทำตามที่ รมว.คมนาคมสั่งการ ตนคิดว่าสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรออีก 6 เดือน เพราะข้อมูลทุกอย่างและข้อเสนอต่างๆ มีพร้อมหมดแล้ว หากประกาศโดยเร็วก็สามารถช่วยคนได้อีกมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน