รมว.สาธารณสุข แอฟริกาใต้ ขอไทยเป็นที่ปรึกษา สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นนครนิวยอร์ก ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.ซเวลลินิ แอล มไคซ์ (Dr.Zwelini L Mkhize) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเทศแอฟริกาใต้ ขอพบ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุขไทย เพื่อหารือความร่วมมือพัฒนาหลักประกันสุขภาพระหว่างประเทศ ภายในการประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมหารือด้วยนพ.มไคซ์ กล่าวว่า ประเทศแอฟริกาใต้อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแอฟริกาใต้ (National Health Insurance, NHI) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพบริการสาธารณสุข และตั้งเป้าหมายที่จะให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคการเงินมาขวางกั้น

“ไทยและแอฟริกาใต้เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีสถานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่ไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและใช้เป็นเครื่องมือลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้ การหารือครั้งนี้แอฟริกาใต้ขอให้ไทยเป็นที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพเช่นที่ไทยทำได้มาแล้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ กล่าว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ด้าน นพ.สำเริง กล่าวว่า จากการหารือทวิภาคีในครั้งนี้ แอฟริกาใต้ต้องการเรียนรู้บทเรียนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบสาธารณสุขของโลก เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ

นพ.สำเริง กล่าวต่อว่า ประเด็นที่แอฟริกาใต้ให้ความสนใจนั้น จะเป็นความสนใจในองค์รวมว่า วิธีการบริหารจัดการของไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง และการที่ไทยเราใช้งบประมาณไม่มาก จุดนี้สามารถนำไปปรับใช้ภายในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นไทยตอบรับด้วยความยินดี และปัจจุบันประเทศไทยก็เป็นที่ปรึกษาการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลายประเทศ ที่เพิ่งลงนามผ่านไป คือ สาธารณรัฐเคนยา สำหรับประเทศแอฟริกาใต้นั้น หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน