ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา – หากไปเดินตามงานโอท็อป โดยเฉพาะในโซนชายแดนใต้ จะเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มแปรรูปมากมาย กาแฟก็เป็นสินค้าเด่นอีกอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กาแฟพันธุ์โรบัสต้า ผู้ผลิตต่างก็มีสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง บางสูตรใส่น้ำตาลลงไปเลย แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบหวานอาจจะไม่ถูกปากนัก

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกร กาแป๊ะกอตอใน (กลุ่มผู้ผลิตโกปี๊วังเก่า) อ.เบตง จ.ยะลา ที่มี น.ส.นุช หลำทุ่ง เป็นประธาน เป็นอีกกลุ่มที่ผลิตกาแฟขายมาหลายสิบปี ในชื่อแบรนด์ ‘โกปี๊วังเก่า’ โดย น.ส.นุชเล่าว่า ทางกลุ่มเริ่มทำกาแฟขายตั้งแต่ปี 2546 ถือเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว แต่ก่อนในพื้นที่นี้ปลูกกาแฟโรบัสต้า และชาวบ้านก็ทำโกปี๊กินกันอยู่แล้ว จึงนำมาต่อยอดทำขาย โดยในปี 2559 ได้โอท็อป 4 ดาวของ จ.ยะลา เป็นกาแฟพร้อมดื่มใส่น้ำร้อนแล้วชงดื่มได้เลย เพราะมีรสหวานอยู่แล้ว ที่ผ่านมาออกขายตามงานต่างๆ ใน อ.เบตง และสั่งซื้อออนไลน์ได้ ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 19 คน ซึ่งมีการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าในสวนยางและปลูกแซมตามสวนผลไม้ต่างๆ รวมทั้งทางโรงเรียนเทศบาล 2 (กาแป๊ะกอตอ) ก็จัดสรรพื้นที่ 5 ไร่เพื่อปลูกกาแฟจำนวน 1 พันต้น อย่างไรก็ตาม กาแฟในพื้นที่มีไม่เพียงพอจึงต้องสั่งเมล็ดกาแฟมาจาก จ.ชุมพร

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

น.ส.นุช หลำทุ่ง (ซ้ายสุด)

“เมื่อก่อนคนในพื้นที่ปลูกกันเยอะ แต่พอราคายางสูงขึ้นชาวบ้านเลยโค่นต้นกาแฟแล้วปลูกยางแทน ทำให้ไม่มีเมล็ดกาแฟเพียงพอ ต้องซื้อจาก จ.ชุมพร ผ่านพ่อค้าคนกลางส่งผลให้ต้นทุนสูงมาก ระยะหลังชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้นแล้ว”

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอในแจกแจงว่า จุดเด่นของ ‘โกปี๊วังเก่า’ อยู่ที่รสชาติหอมกลมกล่อม เข้มข้น เพราะใช้เมล็ดกาแฟ 1 ก.ก. น้ำตาล 1 ก.ก. เหมือนโอเลี้ยงหรือโกปี๊ ถ้าใครชอบนมก็เติมนมเข้าไป แต่หากไม่ชอบกินหวานไม่ต้องเติมน้ำตาล เพราะหวานพอดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าชงแบบไม่กรองเลยมีกากนิดๆ หากไม่ชอบอาจใส่ถุงหรือผ่านกระดาษกรอง กินแบบร้อนหรือเย็นก็ได้

สำหรับราคาขาย ครึ่งก.ก.ราคา 180 บาท ขนาด 250 กรัม ขาย 130 บาท น้ำหนัก 50 กรัม ขาย 35 บาท ส่วนสูตรการทำโกปี๊วังเก่ายังเป็นการทำเหมือนสมัยโบราณ เริ่มจากใช้เมล็ดกาแฟที่แกะแล้วนำมาคั่วให้ข้างในดำ พอดำได้ที่แล้วนำมาผึ่งไว้

จากนั้นใช้น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลอ้อยของมาเลเซียผสมกันเพราะจะมีความเหนียว โดยเคี่ยวให้เหนียวเหมือนเป็นเส้นใย แล้วนำเมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จแล้วไปคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยว คลุกเสร็จนำมาผึ่งเอาไว้ให้เย็น ก่อนจะใส่ครกใหญ่ตำได้ พอตำเสร็จก็ไปร่อน แล้วมาตำอีกสลับกันประมาณ 4-5 เที่ยว ก่อนมาบรรจุขาย อย่างไรก็ตาม หากมีลูกค้าสั่งมาจำนวนมาก บางครั้งจะไม่ได้ใช้ครกตำ แต่จะใช้เครื่องปั่นให้ละเอียดเพื่อประหยัดเวลา ส่วนการคั่วกาแฟนั้นยังใช้ฟืนแบบดั้งเดิมเพื่อให้เกิดความหอม ในแต่ละครั้งสามารถผลิตได้ 8 ก.ก. ถ้าบดเป็นผงแล้วจะได้ 16 ก.ก.

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

เธอว่าตอนนี้กาแฟของกลุ่มมีทั้งแบบขายเป็นเมล็ดที่คั่วแล้วเพื่อไปบดเอง และขายแบบสำเร็จรูปชงดื่มได้เลย และยังมีสครับกาแฟสำหรับพอกหน้าด้วย ในอนาคตทางกลุ่มวางแผนไว้ว่าจะผลิตกาแฟให้หลากหลายมากขึ้น โดยจะทำเป็นแบบทูอินวัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกรมการพัฒนาชุมชน เทศบาล อบต. และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมาช่วยในเรื่องวัตถุดิบ การบรรจุภัณฑ์และการตลาดด้วย

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

อีกทั้งปัจจุบันทางกลุ่มรับซื้อเมล็ดกาแฟแบบกะเทาะเปลือกจากชาวบ้านครั้งละ 20-30 ก.ก. ในราคาก.ก.ละ 80 บาท เพื่อให้มีเมล็ดกาแฟไว้ใช้ตลอดเวลาหากมีออร์เดอร์มาก็ผลิตได้เลย ผู้สนใจติดต่อได้ที่โทร. 09-8742-1453

จากกาแฟก็มาถึงข้าวเกรียบปลา และข้าวเกรียบสมุนไพร 6 สีของกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งมักจะร่วมออกบูธงานโอท็อปของหน่วยงานต่างๆ อยู่เป็นประจำ โดยมีสินค้าน่าสนใจหลายอย่าง หลักๆ คือ ข้าวเกรียบผลไม้และสมุนไพร 6 ชนิด พร้อมข้าวเกรียบปลา ที่มีทั้งแบบอบ และแบบทอดให้เลือก บางช่วงจะมีสละและผลิตผลทางการเกษตรมาขายด้วย

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

นางแยนะ เจะวานิ

นางแยนะ เจะวานิ อายุ 57 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็ง ให้ข้อมูลว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อปี 2542 ตอนนี้มีสมาชิก 25 คน และแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกัน มีการลงบัญชีรายรับ- รายจ่าย และจัดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง

สำหรับสินค้าเด่นๆ คือข้าวเกรียบสมุนไพร 6 ชนิด ใบเตย มะเขือเทศ ดอกอัญชัน มันเทศ ข้าวโพด และกระเจี๊ยบ รวมทั้งข้าวเกรียบปลา ซึ่งผลิตภัณฑ์ 7 อย่างนี้ได้รับเครื่องหมาย อย.ทั้งหมด และในส่วนของข้าวเกรียบปลาก็ได้คัดเลือกเป็นโอท็อป 4 ดาวของ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2557

ของดีชายแดนใต้โกปี๊วังเก่า-ข้าวเกรียบปลา

คั่วด้วยเตาฟืน

จุดเด่นอีกอย่างของข้าวเกรียบสมุนไพรฝีมือกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็งคือ ใช้ส่วนผสมจากแป้งสาคูที่ทำจากต้นสาคูที่มีในหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้แป้งมีความกรอบ

นางแยนะเล่าว่า ปกติอาชีพหลักของสมาชิกคือทำสวนยางพารา แต่เมื่อมีเวลาว่างจะมารวมตัวกันทำข้าวเกรียบ ในแต่ละเดือนมีรายได้เสริมคนละประมาณ 2,000 บาท ในส่วนการแบ่งปันผลกำไรของกลุ่มเมื่อครบ 2 ปี ซึ่งหากใครทำได้เยอะก็ได้รับผลตอบแทนเยอะตามไปด้วย และทางกลุ่มยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้สมาชิกเป็นเงินสวัสดิการเวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลจะได้ 200 บาท และถ้าสมาชิกเสียชีวิตจะได้ 300 บาท นอกจากนี้เมื่อโรงเรียนในพื้นที่จัดกิจกรรมอะไรก็จะนำข้าวเกรียบไปแจก

ประธานกลุ่มแม่บ้านไอร์กูเล็งแจกแจงว่า สาเหตุที่ทำข้าวเกรียบอบ เพราะลูกค้าบางคนไม่ชอบการทอดที่มีน้ำมันติด เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ซึ่งขายดีมาก อบขายมาเป็นปีแล้ว ขณะเดียวกันการอบจะทำให้รสชาติเข้มข้น แตกต่างจากข้าวเกรียบที่ใช้ทอด

“ที่ผ่านมาข้าวเกรียบปลาของกลุ่มขายดีมาก เพราะทำจากปลาลังเขียว ซึ่งเป็นปลาทะเลตัวเล็ก ชาวประมงในพื้นที่จับได้ อีกอย่างจะใช้ปลาเป็นส่วนผสมเยอะมาก ผู้สนใจผลผลิตต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านไอร์ กูเล็ง ติดต่อสอบถามได้ที่ 08-9978-4886”

ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรหญิงที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการผลิต และการตลาด ทำให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำสวนยาง

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน