ชาวตรังสุดช้ำ! จำใจขายสวนยางทิ้ง เซ่นราคาตก ลั่นเจอม็อบแน่ ถ้าไม่ทำตามสัญญา

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายสมพงษ์ สีทอง เกษตรกรชาวสวนยางพารา ในพื้นที่ ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูที่สวนยาง เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่เศษ ที่ปล่อยทิ้งรกร้างมายาวนาน นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 เนื่องจากราคายางตกต่ำมายาวนาน ไม่คุ้มการกรีด เพราะเหลือแค่กิโลกรัมละ 30-31 บาท หรือต่ำกว่า 3 กิโลกรัม 100 บาท นายสมพงษ์จึงหยุดพักการทำสวนยางไว้ชั่วคราวก่อน

นายสมพงษ์ บอกว่า สถานการณ์ที่ย่ำแย่ในเวลานี้ ทำให้เกษตรกรต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะชาวสวนยางที่ไม่มีอาชีพเสริม และมีเพียงสวนยางอย่างเดียว ไม่ว่าราคาจะถูกแพงอย่างไร ก็จำเป็นต้องกรีด บางคนลูกยังเรียนหนังสือ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูง แล้วถ้าเศรษฐกิจยังเป็นอยู่แบบนี้ บางคนก็ต้องยอมโค่นต้นยางเพื่อขายทิ้ง แล้วเอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว หรือบางรายที่มีหลายไร่ ก็ทยอยโค่นขายไม้ยางไป เพื่อช่วยพยุงครอบครัว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า หากยางมีราคาสูงเหมือนเมื่อก่อน ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เกษตรกรก็คงอยู่ได้ แต่ในความจริงกลับไม่ใช่ ยิ่งขณะนี้ในภาคใต้ยังเป็นฤดูฝน และมีฝนตกแทบทุกวัน จึงทำให้ไม่มีรายได้ เพราะกรีดยางไม่ได้เลย แถมยังราคาตกต่ำอีก จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการประกันราคายางพาราตามที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ คือ กิโลกรัมละ 50-60 บาท เนื่องจากเกษตรกรกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จนหลายรายต้องยอมขึ้นป้ายประกาศขายสวนทิ้ง

ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศมาตรการประกันรายได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวน 25 ไร่ต่อรายนั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการเหมาจ่าย คือ การจ่ายขาดไปครั้งเดียว แต่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีประกันราคายางทุกกิโลกรัมๆ ละ 50 หรือ 60 บาทมากกว่า เพราะเป็นราคาที่เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ในการดำรงชีพแต่ละวัน

นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนในอนาคตราคายางจะปรับราคาสูงขึ้นหรือไม่นั้น คิดว่าถ้ารัฐบาลยึดถือนโยบายที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนตอนหาเสียง คิดว่ารัฐบาลต้องทำ หากรัฐบาลไม่ทำตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ จะต้องเกิดการชุมนุมของชาวสวนยางทั้งในภาคใต้และภาคอีสานแน่นอน ตอนนี้สมัชชาชาวสวนยางของอีสานก็เริ่มรวมตัวกัน เพื่อเตรียมประท้วงรัฐบาลแล้ว เนื่องจากทำงานผ่านเข้ามาครึ่งปีก็ยังไม่เห็นผลงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปาล์มน้ำมันกับยางพารา เพราะเป็นอาชีพหลักของคนภาคใต้ ขนาดปุ๋ยซึ่งปกติจะใส่ต้นยางปีละ 2 ครั้ง แต่ในปีนี้ยังไม่ได้ใส่เลย เนื่องจากเกษตรกรต่างไม่มีเงิน ตอนนี้ตนก็ทำอาชีพเสริม ปลูกฝรั่งแป้นสีทองกับมะละกอเรดเลดี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน