ป่าไม้ ชี้ “ไร่ชัยราชพฤกษ์” พี่ชายชัยวัฒน์ 100 ไร่ ไม่ผิด เผยเป็นที่ดิน สทก.

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า เมื่อประมาณปี 2560 กรมป่าไม้ ร่วมกับ ดีเอสไอ เคยเข้าไปตรวจสอบที่ดิน ที่ไร่ชัยราชพฤกษ์ บ้านของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร โดยตรวจสอบเป็นคู่ขนานกัน ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมป่าไม้ ปี 2545 พบพื้นที่ดังกล่าวเป็น ที่ดิน สทก.ซึ่ง สทก คือ สิทธิทำกิน เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม ต้องเป็นพื้นที่ที่ได้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่แล้ว จึงประกาศเป็นเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ

โดย สทก.นั้นเป็นโครงการต่อเนื่องกับพื้นที่ที่ใช้มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ตอนนั้นได้มีการตรวจสอบหลักฐาน พบว่า ที่ดินทั้ง 3 แปลง หรือประมาณ 100 ไร่ นั้น ซึ่งเป็นบ้านที่นายชัยวัฒน์อาศัยอยู่นั้น มีชื่อผู้ครอบครองคือ นายไพโรจน์ ลิ้มลิขิตอักษร ที่เป็นพี่ชายของนายชัยวัฒน์ โดยนายไพโรจน์ ก็ได้แสดงหลักฐาน การได้รับคัดเลือกจากคณะทำงานให้ได้รับสิทธิทำกินในพื้นที่นี้ และเข้ามาอยู่ภายใต้โครงการสทก.1เมื่อมีการตรวจวัดพิกัด ก็พบว่า ไร่ราชพฤกษ์ ก็อยู่ในพิกัดของสทก.1จริง

เมื่อถามเรื่องที่ทางดีเอสไอระบุว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ นายชีวะภาพ กล่าวว่า พื้นที่สทก.ก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั่นเอง แต่เป็นพื้นที่ตามโครงการที่ก่อนหน้านี้รัฐอนุญาตให้ราษฎร เข้ามาทำกินได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดเอาไว้ หากยังไม่มีการยกเลิกโครงการ สทก.ก็จะไประบุว่า นายไพโรจน์ผิดก็ไม่ได้

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือ สทก. ที่มอบให้ราษฎรจะลงนามอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีลักษณะดังนี้ แบบที่ 1 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ และอยู่อาศัยภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือแบบ สทก.1ก. เป็นหนังสืออนุญาตให้ครั้งแรก มีอายุการอนุญาต 5 ปี ขนาดเนื้อที่อนุญาตให้ตามที่ครอบครองอยู่จริง แต่ไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตเมื่อครบกำหนดการอนุญาตให้ครั้งแรก จะเปลี่ยนหนังสืออนุญาตตามแบบ สทก.2 ก

แบบที่ 2 แบบ สทก.2 ก ออกให้สำหรับผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไข กรมป่าไม้จะออกหนังสือฉบับนี้ให้เพื่อมีสิทธิทำกินในที่ดินเดิมต่อไปซึ่งไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครอบครัว (โดยจะเรียกเก็บหนังสือ สทก.1 ก ด้วย) มีอายุการอนุญาต 5 ปี และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้อัตราไร่ละ 20 บาท (ต่อหนึ่งคราวการอนุญาต) เมื่อครบกำหนดก็จะมีการพิจารณาต่ออายุให้

แบบที่ 3 เรียกว่า “หนังสืออนุญาตให้ทำการปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ” หรือ แบบ สทก.1 ข เป็นหนังสืออนุญาตที่ออกให้แก่ราษฎรผู้ที่ได้รับ สทก.1 ก หรือ สทก.2 ก ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่า 20 ไร่ และมีความประสงค์จะปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นภายในเนื้อที่ไม่เกิน 35 ไร่ ต่อครอบครัว มีอายุการอนุญาตคราวละ 10 ปี และจะต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตในอัตราไร่ละ 20 บาท ทั้งนี้ราษฎรจะต้องปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น เมื่อครบกำหนดเวลาการอนุญาตก็สามารถต่ออายุได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน