เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 22 กรกฎาคม บริเวณทางข้ามทางรถไฟ ด้านหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางอมรรัตน์ หรือผู้ใหญ่ไข่ ทุดาประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านบุ่ง หมู่ 1 ต.หนองไผล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมชาวบ้านที่มีบ้านพัก และที่ทำกินในละแวกสองข้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากรูปแบบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ได้นำป้ายไวนิลพิมพ์ข้อความว่า “ ชาวบ้านเดือดร้อน รถไฟรางคู่ต้องยกระดับเท่านั้น ” มาแสดงถึงความต้องการที่แท้จริง ก่อนนำป้ายฯ ดังกล่าวไปติดตั้งตามหน้าบ้านของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสื่อให้เห็นชาวโคราชต้องการทางรถไฟยกระดับ

นางอมรรัตน์ ฯ หรือผู้ใหญ่ไข่ เปิดเผยว่า แม้นนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้นำชุมชนเข้าพบ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม และคณะทำงาน ฯ เพื่อชี้แจงปัญหาทางรถไฟระดับพื้นดิน จะทำให้เกิดผลกระทบนานานัปการ แต่คำตอบหลายประเด็นส่อให้เห็นถึงความไม่มั่นใจ รฟท.จะตอบสนองชาวโคราช ซึ่งต้องการทางรถไฟยกระดับ ทำให้พวกเรายังวิตกกังวล ข้ออ้างเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางระบบราง จึงต้องปิดจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟพร้อมสร้างกำแพงกั้นสูง 2 เมตร ตลอดแนว โดยสร้างทางต่างระดับทั้งสะพาน และเกือกม้าข้ามทางรถไฟที่กำหนดไว้ในบางจุด ก็ทำให้ตัวเมืองถูกแยกเป็นสองฝั่ง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะเขตบ้านบุ่ง ต.หนองไผ่ล้อม ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับตัวเมืองโคราช ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหาเช้ากินค่ำ และประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่ง ทุกเช้าตรู่ต้องจูงม้ากว่า 100 ตัว เดินข้ามทางจุดตัดทางรถไฟไปฝึกซ้อมที่สนามกีฬาทหารค่ายสุรนารี และว่ายน้ำในบุ่งตาหลั่วตอนล่าง ซึ่งเป็นความเดือดร้อนหากจะให้ชาวบ้านปั่นจักรยาน ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง หรือขับรถซาเล้ง รวมทั้งจูงม้าแข่งเดินขึ้นสะพานข้ามทางรถไฟ ทั้งมีระยะไกล และอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ตนในฐานะผู้นำชาวบ้าน ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตัวเอง ลำพังให้ รมช.คมนาคม สั่งการให้ปรับรูปแบบคงไม่ทันการอย่างแน่นอน เนื่องจากใกล้ถึงวันประมูลงานหาผู้รับจ้างแล้ว

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) กล่าวว่า บัณฑิตวิทยาลัย มร.นม. ได้จัดกิจกรรมทางวิชาการ “ รถไฟทางคู่โคราช….ยกระดับ ” ในวันที่ 24 กค. เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ มร.นม. โดยเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และผู้แทน รฟท. ขึ้นเวทีเสวนาให้ความรู้ทางรถไฟระดับพื้นดินและยกระดับต่างกันอย่างไรและมีข้อเสียอะไรบ้าง จึงขอเชิญผู้สนใจร่วมรับฟังพร้อมแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน