เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำ 13 แห่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด 16 แห่งของจ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่อยู่ติดกับเทือกเขาพนมดงรักตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา และอ่างเก็บน้ำโอว์ตาลัด ปรากฏว่า น้ำได้ล้นสปิลเวย์ไหลทะลักลงมาตามลำห้วยและตามลำน้ำสาขา เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านในเขตหลายอำเภอกว่า 20,000 ไร่ รวมทั้งถนนหลายสายถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ส่วนบ้านเรือนของชาวบ้านยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

 

ขณะที่เขื่อนราศีไศลได้ยกประตูระบายน้ำขึ้นสูง 2.50 เมตร เพื่อให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลตามธรรมชาติ จากการสำรวจของนายบุญประสงค์ นวลสายย์ รักษาราชการแทน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ พบว่า การที่เขื่อนราศีไศลยกประตูระบายน้ำสูงขึ้น ยังไม่มีผลกระทบน้ำท่วมบ้านเรือนไร่นาของชาวบ้านตามเส้นทางที่แม่น้ำมูลไหลผ่านแต่อย่างใด

 

นายครรชิต ดีหนองยาง นายอำเภอภูสิงห์ เปิดเผยว่า จากการที่ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โครงการชลประทาน จ.ศรีสะเกษ กำนัน ต.ห้วยตึ๊กชู และ สมาชิก อส.อ.ภูสิงห์ ได้ร่วมกันสำรวจ สถานการณ์ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่ง ในพื้นที่อ.ภูสิงห์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เนื่องจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องและมีน้ำป่าไหลเข้าสู่อ่างในห้วงที่ผ่านมาจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง เต็มความจุอ่างและล้นสปิลเวย์ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 เซนติเมตร อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 เซนติเมตร อ่างเก็บน้ำห้วยตึ๊กชู น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 15 เซนติเมตร และอ่างเก็บน้ำโอว์ตาลัด น้ำล้นสปิลเวย์ ประมาณ 10 เซนติเมตร

 

นายอำเภอภูสิงห์ กล่าวต่อว่า ในด้านความเสียหาย จากการสำรวจข้อมูลขั้นต้น พบว่ามีถนนในหมู่บ้านและเส้นทางสำหรับใช้ในการเกษตรเสียหาย 25 เส้นทาง ซึ่งตนได้สั่งการให้อบต.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อใช้สัญจรได้ก่อนชั่วคราว และบางส่วนอยู่ในระหว่างรอการซ่อมแซม เนื่องจากต้องรอให้ระดับน้ำลดลงก่อนจึงจะดำเนินซ่อมแซมได้ ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับผล กระทบ ส่วนใหญ่เป็นที่นา สวนยางพารา ซึ่งมีน้ำท่วมขัง ประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากอ.ภูสิงห์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่ง ซึ่งหากเกิดฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลเข้าสู่อ่าง หากล้นสปิลเวย์เกิน 50-80 เซนติเมตร มวลน้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่รองรับน้ำตามลำห้วยสาขาจาก อ.ภูสิงห์ ขุขันธ์ ปรางค์กู่ วังหิน และจะเข้าสู่ตัว อ.เมืองศรีสะเกษ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน

 

ด้าน นายธวัช สุระบาล ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขอเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มต่ำริมลำห้วยต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว ขอให้อพยพไปอยู่ที่สูงและปลอดภัย เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวล และให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินของมีค่าไปก่อนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ตนได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอประสานงานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำท่วมและพร้อมที่จะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยทันที โดยให้เฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ส่วนบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมได้ลดลงแล้ว คือ อ.กันทรลักษ์ ตนจะร่วมกับ นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอกันทรลักษ์ และนายทรงชัย รุจิรารังสรรค์ นายกเทศมนตรีเมืองกันทรลักษ์และทุกภาคส่วนทำการล้างเมืองทำความสะอาดครั้งใหญ่เพื่อให้อำเภอกันทรลักษ์สะอาดสะอ้าน ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดิมต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน