คนกรุงจ๊าก 17 ส.ค.นี้ เจ้าท่าให้ปรับค่าโดยสารเรือหลังดีเซลทะลุ 25.01 บาท/ลิตร เรือด่วน-แสนแสบได้ขึ้น 1 บาท เรือข้ามฟากขึ้น 50 สตางค์ ส่วนรฟท.ก็ดีเคย์ 21 ส.ค. ขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่เฉลี่ยที่นั่งละ 100-200 บาท ทั้ง 4 เส้นทาง ด้านขสมก.เริ่มทดลองวิ่ง 8 สายใหม่แล้ว ยันหลังปฏิรูปเสร็จใน 2 ปี อาจจะต้องขึ้นค่าตั๋ว

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิรูปรถเมล์ว่า เป็นความปรารถนาดี ตั้งใจดี และสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์อย่างไร เพราะหากไม่ทำอะไรเลยก็โดนเล่นงานอีกว่าไม่รู้เรื่อง ทำอะไรกันมา ยืนยันว่าเป็นความหวังดีในการทำสีสันต่างๆ หากไม่เห็นด้วยก็บอกมา

“สิ่งที่ผมย้ำวันนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในที่ประชุมครม.ว่า ผมจะต้องได้รถเมล์ 400 กว่าคันที่ซื้อแล้วมีปัญหามาให้ได้ในสิ้นปีนี้ จะทำอย่างไรให้มีรถเมล์เอ็นจีวีคันใหม่ให้คนไทยได้นั่งเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งเขาก็บอกกับผมว่าทำได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเป็นห่วงคือ กิจการประกอบรถเมล์ในประเทศ ที่ตอนแรกเราทำไม่ได้ วันนี้ตนบอกให้ไปเตรียม 1,000 กว่าคัน เพื่อเตรียมการให้บริษัทของประเทศไทยเข้าสู่การประมูลนี้ด้วย จะได้สร้างอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ใช่ซื้ออย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หลายเรื่องหากทำไม่ได้ก็ต้องนำร่องเข้ามาศึกษา เปรียบเทียบและออกแบบ เพราะหลายอย่างเราต้องทำใหม่ให้ทันสมัย เนื่องจากของเดิมอาจจะมาตรฐานไม่ถึงที่ทำมาจากต่างประเทศ

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยว่า ขบ.จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารสาธารณะในช่วงเวลา 2 ปีจากนี้ โดย ขบ.อยู่ระหว่างปฏิรูปเส้นทางเดินรถ 269 เส้นทาง ซึ่งจะทดลองเดินรถและรับฟังเสียงประชาชน ทั้งนี้ เชื่อว่าการปฏิรูปเส้นทางเดินรถจะช่วยยกระดับบริการและเส้นทางเดิมรถให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมีรายจ่ายเดินรถซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ภายหลังปฏิรูปเสร็จอาจจะปรับขึ้นค่ารถเมล์ทั้งระบบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาแนวทางปรับราคาค่าโดยสารให้เหมาะสมต่อไป คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 10-12 เดือน

นายสนิทกล่าวด้วยว่า กรณีที่สังคมออกมาแสดงความเห็นกรณีการใช้อักษรภาษาอังกฤษเป็นชื่อสายรถเมล์โดยระบุว่าอาจทำให้เกิดความสับสนว่า การเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษแทนก็เพื่อให้จดจำง่าย เนื่องจากจะมีตัวเลขเหลือเพียงสองหลักจากเดิมที่ตัวเลขอย่างเดียว 3 หลัก รวมทั้งยังรองรับการพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมในอนาคตที่อยู่ในเขตหรือเส้นทางเดินใกล้เคียง อาทิ B46 B47 และ B48 เป็นต้น นอกจากนี้ เส้นทางใหม่ยังใช้การจดจำแบบสัญลักษณ์โดยการใช้สีแบ่งเขตการเดินรถอีกด้วยเพื่อให้เข้าใจได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างการทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ขบ.จะรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายและอาจพิจารณาการใช้อักษรภาษาอังกฤษถ้ามีความจำเป็นโดยอาจพิจารณาเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรอย่างเดียวไปเลยก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปิดทดลองเดินรถสายใหม่ 8 เส้นทางอย่างเป็นทางการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.-15 ก.ย. 60 เวลา 06.30-18.30 น. โดยแบ่งรถโดยสารในเส้นทางเดิม 5 คัน เพื่อทดลองเดินรถวิ่งให้บริการควบคู่กับเส้นทางเดิม ดังนี้ สาย G 21 รังสิต-ท่าเรือพระราม 5(เทียบเคียงสาย 114 อ.ต.ก. 3-แยกลำลูกกา), สาย G 59 E มีนบุรี-ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) (เทียบเคียง สาย 514 มีนบุรี-ถนนรัชดาภิเษก-สีลม)

สาย R 3 สวนหลวง ร.9-BTS สนามกีฬาแห่งชาติ(เทียบเคียง สาย 11 อู่เมกาบางนา-มาบุญครอง), สาย R 41 ถนนตก-แฮปปี้แลนด์ (เทียบเคียง สาย 22 อู่โพธิ์แก้ว-สาธุประดิษฐ์), สาย Y 59 สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน-กระทุ่มแบน(เทียบเคียง สาย 189 สนามหลวง-กระทุ่มแบน), สาย Y 61 หมู่บ้านเศรษฐกิจ-สถานีขนส่งจตุจักร (เทียบเคียงสาย 509 สถานีขนส่งจตุจักร-บางแค), สาย B 44 วงกลมพระราม 9-สุทธิสาร(เทียบเคียง สาย 54 วงกลมรอบเมืองห้วยขวาง) และสาย B 45 ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม-สะพานพุทธ(เทียบเคียง สาย 73 อู่โพธิ์แก้ว-สะพานพุทธ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน ซึ่งเป็นจุดจอดรถเมล์สาย Y59 สายใหม่ ที่วิ่งระหว่างสถานีชุมทางตลิ่งชัน-กระทุ่มแบน หรือเป็นสาย 189 เดิมที่วิ่งระหว่างบางกอก ใหญ่-กระทุ่มแบน โดยจุดนี้เป็นจุดที่รอรับ ผู้โดยสารที่โดยสารรถไฟมาต่อรถเมล์ไปยัง จุดอื่น

พนักงานขับรถเมล์สาย Y59 กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเปิดให้บริการ ทดลองเส้นทางใหม่ภายใต้ชื่อโครงการ ทดลอง เส้นทางใหม่ โดยตนก็ไม่เข้าใจในการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเพราะเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ แต่ด้วยความเห็นแล้วน่าจะใช้ตัวเลขแบบเดิมดีกว่าที่จดจำได้ง่ายและที่ทำขึ้นมาก็ไม่เห็นจะมีอะไรใหม่ แค่เอาสติ๊กเกอร์สีเหลืองมาติดทับของเดิม ตัวรถก็เป็นสภาพเดิมไม่ได้รับการปรับปรุง

ขณะที่ผู้โดยสารรายหนึ่งกล่าวว่า เป็นผลดีที่มีรถประจำทางมาให้บริการบริเวณสถานีชุมทางตลิ่งชัน เนื่องจากถนนเส้นนี้ไม่มีรถประจำทางวิ่งเลย ส่วนตัวอักษรที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษนำหน้าเห็นควรว่าใช้เป็นตัวภาษาไทยนำหน้าน่าจะดีกว่า เพราะว่าผู้โดยสารบางคนไม่รู้จักตัวอักษรภาษาอังกฤษจะทำให้สับสน ขณะเดียวกันรถประจำทางน่าจะปรับปรุงตรวจสภาพรถ ความสะอาดของรถ นี่แค่เอาสติ๊กเกอร์มาปิดทับรถเก่าให้เป็นรถใหม่เท่านั้น

วันเดียวกัน นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ รฟท. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.นี้เป็นต้นไป รฟท.จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่ 115 คัน เพื่อปรับให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการในรถโดยสารขบวนใหม่ที่มีต้นทุนทางด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ระบบห้องโดยสารที่กว้างขวางสะดวกสบายมากขึ้น ระบบห้องน้ำแบบปิด บริการจอทีวี และบริการเสริมอื่นๆ

นายทนงศักดิ์กล่าวต่อว่า อัตราการปรับราคาเฉลี่ยที่นั่งละ 100-200 บาท ทั้ง 4 เส้นทางที่เปิดให้บริการ คือ เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, เส้นทางกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย-กรุงเทพฯ และเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-กรุงเทพฯ โดยจะแบ่งการปรับขึ้นราคาออกเป็น 2 ส่วน คือรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จะปรับราคาขึ้นเฉลี่ยไม่เกินที่นั่งละ 200 บาท และรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จะปรับราคาขึ้นเฉลี่ยที่นั่งละไม่เกิน 100 บาท

นายทนงศักดิ์กล่าวอีกว่า เราเปิดให้บริการรถไฟโดยสารรุ่นใหม่มาตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 2559 โดยจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำ เพราะเป็นช่วงโปรโมชั่นเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ซึ่งขณะนี้ก็ให้บริการมารวมเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว รฟท.เห็นควรว่าจะต้องปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะรถไฟโดยสารรุ่นใหม่มีตลาดเฉพาะกลุ่มที่พอมีกำลังซื้อ ส่วนรถไฟโดยสารปกติที่เป็นใช้รถขบวนเดิมวิ่งให้บริการยังไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รฟท.มีแผนที่จะขยายเส้นทางการให้บริการเพิ่มเติมอีกภายใน 3 ปี หลังจากการก่อสร้างทางคู่แล้วเสร็จ เพราะจะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการโดยสารได้

ขณะที่นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการเรือกลเดินประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกขยับราคาขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 25.19 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่า 25.01 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นราคาตามเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการฯ ติดต่อกัน 10 วัน กรมเจ้าท่าจึงจำเป็นต้องประกาศปรับค่าโดยสารให้เป็นไปตามประกาศของคณะ กรรมการฯ โดยเรือด่วนเจ้าพระยาให้ปรับราคาขึ้น 1 บาท/คน/เที่ยว เรือคลองแสนแสบปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท/คน/เที่ยว ส่วนเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาปรับขึ้น 50 สตางค์/ คน/เที่ยว

สำหรับราคาค่าโดยสารเรืออัตราใหม่สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยามี 3 อัตราดังนี้ 1.เรือประจำทาง อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 9-11-13 (ตามระยะ) (บาท/คน) 2.เรือด่วนพิเศษ ธงส้ม อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 15 (บาท/คน) 3.เรือด่วนพิเศษ ธงเหลือง อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 20 (บาท/คน) 4.เรือด่วนพิเศษ ธงเขียว อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 13-20-32 (ตามระยะ) (บาท/คน) ส่วนเรือโดยสารในคลองแสนแสบ อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 9-11-13-15-17-19 (ตามระยะ) (บาท/คน)

ส่วนเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มที่ 1 (นนทบุรี-บางศรีเมือง, ท่าช้าง-วังหลัง, ท่าช้าง-วัดระฆัง, วังหลัง-ท่าพระจันทร์เหนือ, วังหลัง-มหาราช และ ราชวงศ์-ดินแดง) อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 3.50 (บาท/คน), กลุ่มที่ 2 (โอเรียนเต็ล-วัดสุวรรณ และท่าเตียน-วัดอรุณฯ) อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 4 (บาท/คน), กลุ่มที่ 3 (สี่พระยา-คลองสาน) อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 4.50 (บาท/คน), กลุ่มที่ 4 (พระสมุทรเจดีย์-วิบูลย์ศรี และสะพานตากสิน(สาทร) ฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรี) อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 5.50 (บาท/คน) และกลุ่มที่ 5 (ปากคลองตลาด-วัดกัลยาณมิตร-วัดกุฎีจีน) อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 6 (บาท/คน)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน