เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 ส.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. เภสัชกรประพนต์ อางตระกูล รองเลขาเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พ.ต.อ.บัณฑิต ทิศาภาค รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.ท.จตุรงค์ พลเกิด รอง ผกก.4 ปคบ. พ.ต.ท.อภิชัย ไลออน รอง ผกก.4 ปคบ. และพ.ต.ต.เกรียติคุณ การะเกษร สว.กก4 ปคบ. ร่วมกันแถลงจับผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนและสบู่ ตราพาย่าสลิมพลัส ที่ปลอมแปลงเลขสารบบอาหาร อย. พร้อมของกลางมูลค่า 5 ล้านบาท

 

พล.ต.ต.ประเสริฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ปคบ.ได้รับร้องเรียนว่า ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ยี่ห้อพาย่าฯมีการโฆษณาขายยาลดความอ้วนผ่านทางเฟสบุ๊กแฟนเพจโดยผิดกฎหมาย ประกอบกับมีผู้บริโภคสั่งยี่ห้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาตรวจสอบพบว่ามีเลขสารบบอาหารและเลขทะเบียนยาของผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่ของตนเองมาใช้ จึงจัดเป็นยาและอาหารปลอม ทางเจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กก.4 ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปทุมธานี เข้าตรวจค้นบริษัท พญา เฮลตี้ กรุ๊ป จำกัด เลขที่ 263/166 หมู่บ้านภูมิสิริ คลอง 7 ม.1 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพาย่า พบผู้ต้องหานายสุธี อาจดี อายุ 30 ปี เป็นเจ้าของบริษัทและเจ้าของบ้านพักที่ตรวจค้น

 

พล.ต.ต.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ฝากข้อห่วงใยถึงผู้ที่อยากลดน้ำหนัก ในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักมากินเอง ขอให้คิดเสมอว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่โฆษณาชวนเชื่ออวดสรรพคุณในการลดน้ำหนักที่ขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีการบริโภคเกินขนาด หรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อน ดังนั้น ก่อนใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งเตือนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ให้ดำนินการตามขั้นตอนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหากมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคและถูกตรวจพบ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและฝากประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดโปรดแจ้งสายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือทางเว็บไซด์ WWW.cppd.go.th หรือ สายด่วน อย.1556

ด้าน เภสัชกรประพนต์ กล่าวว่า ผลการตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่าง ๆ และบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พาย่าที่มีส่วนผสมของยาไซบูทรามีนที่เป็นสารประเภทหลอนประสาท ทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหาร หากรับประทานเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ปากแข็ง มือสั่น ใจสั่น และอาจจะส่งผลให้ ไตวายเสียชีวิตได้ และตัวยาดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในสารบบของทะเบียนยาในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา อย. มีการประกาศเตือนและขึ้นเว็ปไซต์ว่าเป็นสารอันตราย ส่วนสบู่นั้นเป็นเครื่องสำอางที่ทำขึ้นและไม่ได้ขออนุญาติจึงได้ยึดไว้เป็นของกลาง โดยหลังจากนี้จะนำของกลางทั้งหมดไปตรวจหาสารอันตรายต่อไป

ทั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา จำหน่ายอาหารปลอม จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ขายเครื่องสำอางปลอม ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน