เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมด้วยพ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท. พ.อ.สมศักดิ์ แจ่มพันธ์ กอ.รมน. จ.เลย นายกิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอภูเรือ และนายปิยภูมิ ถวิลไพร เจ้าหน้าที่ที่ดินอ.ภูเรือ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากที่ศอตช.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการออกฉโนดที่ดิน โดยมิชอบในเขตพื้นที่ป่าภูเขาหนองปาด (ภูพ้อย) ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย เนื้อที่เกือบ 300 ไร่ โดยเป็นการออกโฉนดซ้ำในที่ดิน นส.3 ก เนื้อที่ 2,000 ไร่ ถูกศาลสั่งเพิกถอน

นายประยงค์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าในปี 2533 บริเวณดังกล่าวเคยมีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3ก จำนวน 51 แปลง เนื้อที่ 2,296 ไร่ ต่อมากรมที่ดินมีคำสั่งวันที่ 14 ก.ย. 2547 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส3ก.) จำนวน 49 แปลง เนื่องจากไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินจริง ประกอบกับที่ดินดังกล่าวเป็นที่ภูเขาหนองปาด ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 พบว่ามีการออกโฉนดที่ดินที่ซ้ำลงไปในพื้นที่ซึ่งกรมที่ดินเคยมีคำสั่งให้เพิกถอน โดยวิธีการเดินสำรวจ 6 แปลง เนื้อที่ 280-0-26 ไร่ หลังจากนั้นเพียง 3 วัน ได้มีการขายที่ดินทั้งหมด 6 แปลงให้กับบุคคลรายเดียวกัน

“มีข้อน่าสังเกตุว่าที่ดินทั้ง 6 แปลง ผู้ครอบครองน่าจะเป็นรายเดียวกัน แต่ไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ 280 ไร่ได้ทั้งหมด จึงแบ่งย่อยออกโฉนดที่ดินไม่เกินแปลงละ 50 ไร่ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดินมาตรา 58 เพื่อให้สามารถออกเอกสารสิทธิได้ สำหรับราคาซื้อขายที่ดินพบมีมูลค่าสูงถึงไร่ละ 13 ล้านบาท โดยผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน ในฐานะผู้ขายไม่ได้รับเงินค่าที่ดิน บางรายไม่ทราบว่าตนเองมีที่ดินบริเวณดังกล่าว เบื้องต้นจะมอบให้เขตพื้นที่ตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดจะต้องสรุปสำนวนให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขยายการออกโฉนดไปในแปลงที่เคยถูกศาลเพิกถอนอื่นๆ และเมื่อแผนที่ฉบับวันแมพมีผลบังคับใช้ ที่ดินซึ่งออกนอกระวางจะถูกเพิกถอนทั้งหมด” นายประยงค์ กล่าว

ด้าน พ.ท.ทินพันธ์ ปากแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบพื้นที่บุกรุกประจำกอรมน.จว.เลย กล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวหลักจากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอน แต่ยังมีการออกโฉนดซ้ำในจุดเดิม 6 แปลง ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ซึ่งกอรมน.จังหวัดจะเข้าไปตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง พบมีการสร้างบ้านพัก 4 หลัง ตัดไม้ในพื้นที่ป่าและนำไปเก็บไว้บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อเตรียมสร้างบ้านพักเพิ่มเติม โดยผู้ดูแลเป็นคนในพื้นที่ แต่ผู้ที่มีชื่อครอบครองโฉนดที่ดินเป็นคนกรุงเทพฯ

“แม้จะมีคำสั่งศาลให้เพิกที่ดินดังกล่าวกว่า 2,000 ไร่แล้วก็จริง แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของชุดปฎิบัติการกอ.รมน.จังหวัดพบการขยายพื้นที่บุกรุกเพิ่มเติมกว่า 3,000 ไร่ และยังมีการออกเอกสาร นส.3ก.ทับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ด้วย และขอมอบเอกสารทั้งหมดให้เลขาธิการ ป.ป.ท. รับไปดำเนินการต่อ” พ.ท.ทินพันธ์ กล่าว

ด้าน นายกิตติคุณ กล่าวว่า ช่วงต้นปี 2560 ทางจังหวัดมีคำสั่งให้แต่ละอำเภอเดินสำรวจพื้นที่ให้ราษฎรทำกิน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับอำเภอเพื่อกลั่นกรอง พบว่าอ.ภูเรือมีกำหนดพื้นที่ที่จะออกเอกสารสิทธิให้ประชาชน 71 ครอบครัว 20 ระวางใน 3 ตำบล คือ หนองบัว ปลาบ่า และร่องจิก โดยมีเจ้าหน้าที่กรมที่ดินส่วนกลางนำเดินสำรวจ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า น้ำ ประปา และถนนคอนกรีต เพื่อใช้ประโยชน์ในทางสาธารณะ เนื่องจากมีวัดป่าภูเรือเข้าไปถือครองพื้นทับซ้อนกับพื้นที่ที่มีการออกโฉนด 1-2 แปลง ส่วนพื้นที่บนภูพ้อยพบมีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดแล้ว 4 แปลง ขณะนี้มีการทำทางสาธารณะขึ้นไป แต่ยังไม่พบสิ่งปลูกสร้าง เบื้องต้นจะต้องตรวจสอบเอกสารทั้งหมดอีกครั้งว่าที่ดินซึ่งเคยถูกเพิกถอนนำมาขอออกโฉนดซ้ำได้อย่างไร เพราะอำเภอรับผิดชอบเพียงนส.3 ส่วนการออกโฉนดเป็นอำนาจของจังหวัดและกรมที่ดิน

นายปิยภูมิ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การเดินสำรวจที่ดิน ว่า ตามประมวงกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตเพื่อเดินสำรวจยกเว้นเขตป่าไม้ถาวร แต่ในปี 2560 คณะกรรมการกลั่นกรองได้กำหนดเขตเดินสำรวจเป็นระวาง ซึ่งศูนย์เดินสำรวจก็ต้องเดินสำรวจตามที่จังหวัดได้ประกาศเขต ประกอบกับกฎกระทรวงข้อที่ 53กำหนดหลักเกณฑ์การออกเอกสารสิทธิ ห้ามออกโฉนดบนพื้นที่ 5 ประเภท คือ เขา ภูเขา ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวร รวมทั้งพื้นที่ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับพื้นที่มีปัญหาและศาลมีคำสั่งเพิกถอนในปี 2547 จนปีนี้ มีการนำมาออกโฉนดอีกครั้งในปี 60 แต่ตนเพิ่งถูกย้ายมารับตำแหน่งเพียง 2 วัน จึงยังไม่ได้ลงตรวจสอบสภาพที่ดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเข้าตรวจสอบพื้นที่นายสมชาติ วายุภาพ ลูกศิษย์วัดป่าภูเรือ ได้นำสำเนาโฉนดพร้อมใบขออนุญาตก่อสร้างวัดจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มาประกอบการชี้แจงโดยยืนยันว่ากลุ่มลูกศิษย์ของพระชาลี อดีตเจ้าอาวาสวัดภูก่อน จ.อุดรธานี ได้ซื้อที่ดินถวายเพื่อสร้างวัด ปัจจุบันพระชาลีได้ย้ายมาสร้างวัดดังกล่าว ที่ดิน 2 แปลง 80 ไร่ สร้างเป็นกุฎิสงฆ์ โรงครัว และลานจอดรถขนาดใหญ่เพื่อรองรับลูกศิษย์ที่จะเดินทางมาทอดกฐินและงานวันเกิดพระชาลี ส่วนกุฎิจะสร้างบนภูเขาจึงจำเป็นต้องสร้างลิฟต์โดยสารเป็นทางขึ้น-ลง นอกจากนี้ยังได้ขยายพื้นที่วัดด้วยการรับซื้อที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 210 ไร่ โดยมีอดีตนายทหารเกษียณราชการระดับพล.อเป็นศิษย์วัดคนสำคัญมีการนำฉโนดมาถวายให้วัดในงานทอดกฐินที่ผ่านมา ส่วนปัญหาที่ถูกร้องเรียนว่าวัดรุกพื้นที่ป่าอาจเกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพพื้นที่มีถูกเพิกถอนโฉนดและมีการนำไปออกเอกสารสิทธิซ้ำจะมี 2 จุด คือ บริเวณวัดป่าภูเรือพบว่ามีการสร้างถนนคอนกรีตอย่างดีระยะมาณประมาณ 1 กิโลเมตร และมีการสร้างลิฟต์โดยสาร สำหรับพระสงฆ์ใช้ขึ้นและลงกุฏิที่ตั้งอยู่บนเขา ปัจจุบันลิฟต์โดยสาร ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งสิ่งของและวัสดุก่อสร้างขึ้นไปยังวัด โดยวัดดังกล่าวยังมีสถานะเป็นแค่สำนักสงฆ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน