เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่บริเวณสวนหลวงราชินี ถึงสะพานปลาหัวหิน เกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ที่เรียกว่า น้ำเบียด เนื่องจากเมื่อวันที่ 16 ก.ย.มีฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำจืดไหลลงทะเลอย่างทะเลอย่างรวดเร็ว ประกอบวันนี้ยังมีสภาพอากาศค่อนข้างปิด มืดครึ้มตลอดทั้งวัน น้ำทะเลมีสีแดงขุ่น ชาวบ้านที่คุ้นเคยกับสภาพอากาศและสีน้ำทะเลเช่นนี้ ต่างทราบดีว่า เมื่อน้ำจืดไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วในปริมารมากๆเช่นนี้ สัตว์ทะเลจะปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการน็อคน้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ลอยตัวผิวน้ำและเข้าฝั่งเป็นจำนวนมาก

ทำให้ชาวบ้านที่ทราบข่าวจำนวนมาก ต่างก็นำอุปกรณ์ เครื่องมือมือทางการประมง ไม่ว่าจะเป็น แห อวน ฉมวก สวิง ลงทะเลไปจับปลา และสัตว์น้ำ กันจนเต็มชายหาด บ้างก็กำลังสาละวนอยู่ในทะเล บ้างก็ช่วยกันแกะปลาอยู่บนชายฝั่ง ซึ่งพบว่าชาวบ้านต่างก็สามารถจับปลา กุ้ง ปู ได้กันเป็นจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เช่น ปลากระเบน ปลาตุกา ปลาสีกุน ปลาเก๋า ปลากด ปลาสลิด ปลาสร้อย ปลากะพงทะเล ปลาโฉมงาม ปลาเกร็ดข้าวเม่า ปลาเห็ดโคน ปูม้าและฉลาม เป็นต้น บางคนนำอวนมาล้อม ได้ปลาน้อยใหญ่กันคนละหลายสิบกิโล บางครอบครัวนำใส่เรือจนเกือบเต็มลำเรือ เลยทีเดียว

นายอำพร ถิ่นนาไห ชาวบ้านสมอโพรง กล่าวว่า เพื่อนๆโทรบอกว่าทะเลหัวหิน เกิดปรากฎการณ์ น้ำเบียด จึงนำแหออกมาจับปลาตั้งแต่ช่วงสายวันนี้ ตนทอดแหเพียง 2 ครั้ง ก็ได้ปลาจำนวนมาก หวังนำไปแบ่งญาติๆ เพราะปลาทะเลสดๆแบบนี้หากไปซื้อมีราคาแพง เก็บไว้กินดีกว่า ซึ่งตนได้ปลากดตัวใหญ่หนักเกือบ 2 กิโลกรัม นอกจากนี้ก็มีปูม้า และปลาอื่นอีกกว่า 10 กิโลกรัม

ด้าน ป้าเป้า ชาวบ้านชุมชนตาลเดียว กล่าวว่า ตนได้เรียกญาตพี่น้องทั้งครอบครัวมาช่วยกันจับปลา หลังทราบข่าวว่ามีน้ำทะเลเบียด ถือเป็นนาทีทองที่จะจับปลาทะเลได้จำนวนมากตามแนวชายหาด ตนใช้วิธีทอดแห หากเจอปลาตัวเล็กจะโยนคืนทะเลเพื่อหวังให้มันรอดชีวิต โดยปีนี้มีปลาจำนวนมากจริงๆ ทุกครอบครัวได้ปลากันหลายสิบกิโลกรัม ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ขาย แต่ต้องการเก็บไว้กินในครอบครัว ซึ่งตนก็เช่นกัน ปลาที่ได้จะนำมาแบ่งกัน อย่างปลาสลิด ปลาตุกา นำไปล้างแล้วใส่เกลือแล้วนำไปทอดหรือทำแกงส้มกินมีรสชาดอร่อยอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้พบว่า ชาวบ้านสามารถจับปลาตัวใหญ่ๆได้จำนวนมาก และมีปลาบางชนิดที่ไม่ควรจับมากินเช่น ปลานกแก้ว ,ฉลามลายตัวเล็ก มาด้วยหลายตัว ซึ่งชาวบ้านต่างยอมรับว่าปีนี้มีปลาน๊อคน้ำจำนวนมากจริงๆ เพราะมีปลาน้ำลึก หรือปลาที่หากินในชั้นพื้นดินไต้ทะเลติดขึ้นมาด้วย อาทิ ปลานกแก้ว ปลากะพงดำ ปลาหนวดคราม ปลาครุท และปลาสบู่ ซึ่งชาวประมงต่างรู้ดีว่าเป็นปลาหายาก หากลอยขึ้นมาให้จับได้โดยง่าย ก็แสดงว่า สภาพน้ำทะเลขาดอ็อกซิเจน ทำให้น่าเป็นห่วงสภาพน้ำจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะเดิมได้โดยเร็วหรือไม่

ด้าน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางโทรศัพท์ว่า หลังได้รับแจ้งจากอาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ในพื้นที่อำเภอหัวหิน ซึ่งได้ส่งภาพถ่ายกลับมาทาง ทช.ให้ตรวจสอบ เบื้องต้นให้นักวิชาการของกรมทรัยพากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ยืนยันว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างหนึ่งของทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ยิ่งมีความขุ่นของตะกอนดินมากก็ยิ่งสังเกตเห็นขอบเขตได้อย่างชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจพบลักษณะขอบเขตนี้เป็นสองชั้นได้ คือน้ำทะเลปะทะน้ำกร่อยและน้ำกร่อยปะทะน้ำเค็ม แต่ด้วยความขุ่นของตะกอนดินอาจทำให้ไม่สามารถแยกเขตระหว่างน้ำจืดและน้ำกร่อย การผสมกันระว่างชั้นน้ำบริเวณปากแม่น้ำในช่วงน้ำหลากมากนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การแบ่งขั้นของน้ำจึงคงอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน มวลน้ำชั้นล่างซึ่งไม่ได้รับแสงแดดแพลงก์ตอนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงและเติมออกซิเจนให้กับน้ำได้ เมื่อถูกใช้ในกระบวนการหายใจของสัตว์น้ำได้มากขึ้น ออกซิเจนในน้ำจะยิ่งลดลงจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหน้าดิน โดยเฉพาะที่อาศัยใกล้ชายฝั่งได้ นอกจากนี้น้ำเบียดที่เป็นทั้งน้ำเสียจากแม่น้ำเองและที่เกิดจากน้ำเปลี่ยนสี สามารถผลักดันหรือกวาดต้อนฝูงสัตว์น้ำให้หนีไปรวมกันตามแนวเขตได้ หรืออาจทำให้สัตว์น้ำที่หนีไม่ทันตายได้ ดังนั้นลักษณะของ”น้ำเบียด-น้ำกัน” เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในระยะสั้นไม่เกิน 2-3 วัน ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติและขึ้นอยู่กับคลื่นลมบริเวณดังกล่าวด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน