วันที่ 22 ก.ย. ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยนายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร นายเฉลิมชัย ปาปะทา รอง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายวรวุฒิ วิบูลย์ศิริชัย ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ฝ่ายรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันแถลงผลการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 1 กิ่ง 28 ท่อน มูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท จากกลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าสงวนข้ามชาติ

นายชัยยุทธ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบทราบว่า ขบวนการค้างาช้างจะลักลอบนำงาช้างเข้ามาในประเทศไทย ในเที่ยวบินที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักสืบสวนและปราบปรามประจำคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจพบกล่องกระดาษสีน้ำตาลต้องสงสัยพันด้วยเทปกาวและห่อหุ้มด้วยพลาสติกสีดำอีกชั้นหนึ่ง สำแดงชนิดสินค้าเป็นอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ ต้นทางมาจากสายการบินเอธิโอเปีย แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ ET 861 จากเมืองบราซาวีล สาธารณรัฐคองโก และเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินที่ ET628 ที่เมืองอาดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย ก่อนเดินทางมายังประเทศไทย เจ้าหน้าที่จึงได้นำสินค้าไปเอกซเรย์ ผลปรากฏพบวัตถุคล้ายงาช้างบรรจุอยู่ภายในกล่องดังกล่าว

นายชัยยุทธ เปิดเผยต่อว่า จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ส่งชุดปฎิบัติการไปยังที่อยู่ที่ปรากฏในบัญชีสินค้าทางอากาศยาน เพื่อเตรียมขยายผลการจับกุมไปยังกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีผู้ปรากฏตนมารับสินค้าดังกล่าวผ่านพิธีทางศุลกากร จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดตรวจสินค้า ภายในพบงาช้าง จำนวน 1 กิ่ง 28 ท่อน น้ำหนักรวม 41.09 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในกล่อง ถูกห่อหุ้มด้วยฟองน้ำกันกระแทกและกระดาษฟอยส์ จึงได้ทำการยึดงาช้างของกลางทั้งหมดไว้ ก่อนนำส่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อรักษาเก็บไว้ พร้อมแจ้งพนักงานสอบสวนบก.ปทส. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบไม่พบชื่อบุคคลที่ปรากฏอยู่บนสินค้าดังกล่าว จากบริษัทที่ส่งสินค้ามาให้ จึงเชื่อว่างาช้างล็อตนี้ ได้เตรียมถูกส่งไปยังประเทศที่สาม ที่มีความเชื่อ โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยปกติงาช้างล็อตใหญ่ๆ จะใช้ทางเรือ แต่ครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิธีลักลอบส่งมาในรูปแบบสินค้า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็เป็นเครือข่ายเดิม ที่เคยถูกตรวจพบว่าได้ลักลอบส่งงาช้างมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามสถิติการตรวจยึดสินค้าละเมิดอนุสัญญาไซเตส (CITES) ในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ต. 2559 จนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญ อาทิ งาช้าง นอแรดรวมทั้งประเทศ ได้ทั้งสิ้นจำนวน 43 คดี รวมมูลค่าของกลางประมาณ 3 ร้อยล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน