วันที่ 17 ต.ค. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ตามที่บริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด ที่ทำกิจการโรงแต่งแร่ตะกั่ว ปล่อยของเสียจากการแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ็บป่วยล้มตาย จนกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ลงพื้นที่ตรวจสอบ ตั้งแต่ เม.ย. 2541 และมีแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ แต่ต่อมากลับไม่ดำเนินการต่อโดยอ้างว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟู เป็นเหตุให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างโดยความช่วยเหลือของสภาทนายความ ยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครอง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค.56 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟุ ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใน 90 วัน

ต่อมาวันที่ 20 ก.ย.60 กรมควบคุมมลพิษ เริ่มฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยจ้างบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) ในการดำเนินการฟื้นฟูโดยใช้งบประมาณกว่า 460 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค.60 โดยมีระยะเวลาการดำเนินการ 1,000 วัน มีกิจกรรมการดำเนินการประกอบด้วย การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม การก่อสร้างหลุมฝังกลบ และการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งให้กรมควบคุมมลพิษเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยภายใน 90 วัน แต่กว่ากรมควบคุมมลพิษกลับใช้เวลากว่า 4 ปี จึงเริ่มการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งแผนในการดำเนินการฟื้นฟูก็ไม่อาจกำจัดมลพิษออกจากลำห้วยคลิตี้จนให้ชาวบ้านกลับมาใช้น้ำในลำห้วยโดยปราศจากมลพิษดังเดิม เนื่องจาก 1. ไม่มีการขุดลอกลำห้วยตลอดลำห้วย คงขุดลอกเพียงไม่กี่จุด ทำให้มลพิษอีกจำนวนมากยังตกค้างอยู่ในลำห้วย 2. ไม่มีการกำจัดมลพิษ แต่เป็นการเพียงย้ายมลพิษไปฝังกลบเท่านั้น ซึ่งยังมีสภาพเป็นมลพิษอยู่ แต่เดิมกรมควบคุมมลพิษเคยดำเนินการกำจัดมลพิษเหล่านี้ 8 กอง แบบมลพิษอุตสาหกรรม โดยการขุดนำไปกำจัดมลพิษโดยโรงงานภายนอกพื้นที่ เมื่อไม่เป็นมลพิษแล้ว จึงให้บริษัทรับกำจัดของเสียฝังกลบในพื้นที่ของบริษัท 3.การฝังกลบแทนที่จะขนออกไปกำจัดภายนอกและฝังกลบเมื่อกำจัดมลพิษแล้วในพื้นที่ของบริษัทรับกำจัด กลับนำมาฝังกลบมลพิษ ซึ่งยังเป็นมลพิษอยู่เนื่องจากไม่มีการกำจัดมลพิษ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เหนือลำห้วยคลิตี้และหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งหากมีการรั่วไหลก็จะลงสู่ลำห้วยคลิตี้และมาหมู่บ้านคลิตี้ล่างอีกครั้ง และ 4. ไม่มีการกำหนดชัดเจนว่าลำห้วยคลิตี้จะมีค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ไม่เกินค่ามาตรฐานตามคำพิพากษาของศาลเมื่อใด


“การทำไม่ครบถ้วน การไม่กำจัดมลพิษและการฝังกลบในพื้นที่ป่า ทำให้ลำห้วยคลิตี้ไม่ปราศจากมลพิษ ความล่าช้าที่ผ่านมาจะไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านคลิตี้ล่าง หรือชาวจังหวัดกาญจนบุรี เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากพิษสารตะกั่ว น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วได้ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ที่อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ผันลงสู่คลองมหาสวัสดิ์ เพื่อเป็นน้ำดิบที่นำไปผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพฯและคนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ ซึ่งคนกรุงเทพฯและปริมลฑล อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และแม่น้ำแม่กลองก็จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดของประเทศ”ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนคดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 ราย ยื่นฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซ็นเตรทส์ประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริษัท รวม 7 ราย ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.60 ให้จำเลยทั้งเจ็ดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องทั้ง 151 ราย เป็นเงิน 36,050,000 บาท และให้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้ปราศจากมลพิษ จนปัจจุบันจำเลยทั้ 7 ยังไม่ติดต่อเพื่อชดใช้ค่าเสียหายและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แต่อย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน