วันที่ 21 ต.ค. ทีมสัตวแพทย์ของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ พร้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ได้ทำการรักษาช้างพลายสีดอ ที่ชาวบ้านตั้งชื่อว่า พลายชมภู ช้างป่าอายุประมาณ 15-20 ปี จาก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่บาดเจ็บจากถูกน้ำป่าพัดลงจากเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มาติดในคลองชมพู บ้านชมภู ม.3 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก อย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการให้ยา สารอาหาร วิตามิน ผ่านทางสายน้ำเกลือ และต้องมีการให้น้ำเกลืออย่างต่อเนื่องวันละ 200 ลิตร หรือเท่ากับ 200 กระปุกต่อวัน เนื่องจากสีดอชมพูกินอาหารได้น้อย และไม่ยอมกินน้ำเลยตั้งแต่รับตัวเข้ามารักษา คาดว่าเกิดจากการระแวงและไม่คุ้นเคยกับคนและสถานที่

น.สพ.ทวีโภค อังควานิช สัตวแพทย์ประจำสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดเผยถึงอาการล่าสุดว่า หลังจากตรวจพบว่าช้างมีเลือดออกบริเวณไขสันหลัง ทางทีมสัตวแพทย์ได้รักษาโดยการให้ยาปฎิชีวนะ สารน้ำ สารอาหาร อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอยู่อาการติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน ตอนนี้ถือว่าผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ และยังตอบไม่ได้ว่าช้างมีปัญหาทางด้านกระดูกหรือไม่ เนื่องจากการเอ็กซเรย์ยังไม่สามารถลงไปถึงชั้นที่ลึกขนาดนั้นได้ แต่ในวันนี้จะทำการสวนทวารเพื่อนำอุจจาระที่ค้างอยู่ข้างในออก เนื่องจากช้างไม่มีการถ่ายเลย และจะทำการส่องกล้องอัลตราซาวด์ภายในว่ามีของเหลว หรือสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในช่องท้องหรือไม่ รวมทั้งอาจต้องทำการสวนปัสสาวะออกมาตรวจด้วย เพราะช้างไม่ขับถ่ายของเสียใดออกมาเลย และจะนำของเหลวไปทำการตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ จากการตรวจอัลตราซาวด์ เบื้องต้น ไม่พบความผิดปกติ หรือการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ มีเพียงก้อนอุจจาระที่ค่อนข้างแข็ง แต่คาดว่าสักระยะหนึ่งช้างจะสามารถขับถ่ายเองได้ตามปกติ

ขณะทำการรักษา เจ้าหน้าที่ได้นำน้ำใส่ถัง โดยใช้วิธีมัดติดเชือกและลากเข้าไปให้ช้างกิน เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าใกล้บริเวณด้านหน้าของช้าง ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ ปรากฏว่าพลายชมภูได้ใช้งวงดูดน้ำในถังและกินน้ำ 3 ครั้ง และได้ดูดน้ำใช้พ่นล้างตัวเอง เมื่อเห็นดังนั้นทางทีมสัตวแพทย์ก็ดีใจและมีกำลังใจทำงานกันมากขึ้น ขณะเดียวกันระหว่างที่ใช้รถเครนยกช่วงหลังของช้างขึ้นเพื่อทำการสวนทวารนั้น ช้างได้แสดงอาการพยายามใช้ขาหลังดันตัวขึ้นบ้าง แต่ด้วยความที่อ่อนแรงมาก จึงไม่สามารถขยับได้มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในระดับหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลช้างจึงได้นำน้ำมันมวยเข้ามานวดบริเวณช่วงก้นและขาหลังทั้งสองข้างของช้าง เพื่อให้ความร้อนของน้ำมันช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดียิ่งขึ้น และจะใช้รถเครนยกลำตัวช้างขึ้นทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ช้างได้ใช้ขาหน้าพยุงตัวเอง จะได้มีการใช้กำลังขาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน